เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลงในปี 1945 พร้อมกับชัยชนะของฝ่ายสัมพันธมิตร
สหรัฐฯ หนึ่งในประเทศที่ชนะสงคราม มีเศรษฐกิจเติบโตขึ้นอย่างมากหลังจากนั้น
ความสุขของชาวอเมริกันไม่ได้เป็นเพียงแค่ผลพลอยได้จากความเฟื่องฟูในครั้งนี้ แต่มันยังเป็นช่วงเวลาอันหอมหวานของวงการรถยนต์ในสหรัฐฯ ด้วยเช่นกัน
รถในยุคฟิฟตี้ได้กลายเป็นที่พูดถึงอย่างมาก และรถอเมริกันคลาสสิคคันโตที่เราคุ้นตากัน ส่วนมากก็มาจากยุคนี้
การออกแบบอันเป็นเอกลักษณ์ ที่สะท้อนถึงวิถีชีวิตแบบอเมริกัน ทำให้รถยนต์ของพวกเขาไม่ได้เป็นพียงแค่ส่วนหนึ่งในภาคอุตสาหกรรมของประเทศ แต่มันยังเหมือนการเคลื่อนไหวทางวัฒนธรรมอีกด้วย
และสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานั้นก็ทำให้เรื่องราวของพวกมันน่าสนใจไม่น้อย
ตัวอย่างเช่น คุณผู้อ่านทราบกันหรือไม่ครับว่าภารกิจพิชิตอวกาศของสหรัฐก็มีความเกี่ยวข้องกับรูปทรงของพวกมันด้วยเช่นกัน…
อเมริกาในยุค 1950
เศรษฐกิจที่ขยายตัวหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้มีการพัฒนาถนน รถยนต์ และวงการสี่ล้ออย่างก้าวกระโดด และเกิดธุรกิจในรูปแบบใหม่ขึ้นในสหรัฐ ซึ่งมีส่วนต่อการเติบโตยองอุตสาหกรรมรถยนต์ในช่วงนั้น
ตัวอย่างเช่น มีการให้บริการโรงหนังแบบไดรฟ์อิน(ขับรถเข้าไปจอดแล้วก็นั่งดูหนังในรถ)
ทางหลวงที่สามารถใช้ความเร็วได้เต็มที่ โดยไม่มีจำกัด
แถมยังมีเส้นทางยาวๆ ระหว่างรัฐสำหรับขับรถกินลมชมวิวอีกด้วย
ด้านค่ายยานยนต์ ก็เน้นผลิตรถที่มีประสิทธิภาพสูง คันใหญ่ สวยงาม ทำราคาให้คนทั่วไปเข้าถึงได้
ธุรกิจเหล่านี้ มันจึงเอื้อให้คนอเมริกันออกไปใช้ชีวิตบนท้องถนนมากยิ่งขึ้น
ยุคนี้หากจะเรียกว่าเป็นยุคทองของวงการรถยนต์ในสหรัฐก็คงจะไม่แปลก
มีข้อมูลระบุว่าในปี 1950 เพียงปีเดียว มีรถยนต์ถูกผลิตออกมามากถึง 8 ล้านคัน
ปีนั้นมีรถยนต์ที่วิ่งอยู่บนถนนมากกว่า 40 ล้านคันในสหรัฐ
เพิ่มขึ้นมากกว่า 40% จากปี 1941 ที่ยังคงมีเพียงประมาณ 28 ล้านคัน
และจนกระทั่งถึงปี 1958 มีรถยนต์จดทะเบียนในสหรัฐฯ ถึง 67 ล้านคัน เพิ่มขึ้นไปอีก 67% เลยทีเดียว!!
ภาพรถบนชายหาดที่ Daytona Beach ปี 1957
ในขณะที่อุตสาหกรรมรถยนต์กำลังเติบโตขึ้นเรื่อยๆ การพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีและความก้าวหน้าทางวิทยาศาตร์ ก็เดินหน้าตามไปพร้อมๆ กัน
หากใครพอจะนึกออก ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 นี้เองได้เกิดเหตุการณ์สำคัญอย่างหนึ่งขึ้น นั่นก็คือการสู้รบแบบไม่ใช้กำลังห้ำหั่นของ 2 มหาอำนาจแห่งโลกตะวันตกและตะวันออก อย่างสหรัฐอเมริกากับสหภาพโซเวียต หรือที่เราเรียกกันว่า “สงครามเย็น” นั่นเอง
ยุคนั้นมีการแข่งกันทั้งทางด้านวัฒนธรรม การเมืองการปกครอง การโฆษณาชวนเชื่อ รวมไปถึงการห้ำหั่นกันด้วยเทคโนโลยีทางอวกาศ
และวงการออกแบบรถยนต์ของสหรัฐฯ เองก็ได้รับอิทธิพลจากการแข่งขันทางด้านเทคโนโลยีอวกาศของทั้ง 2 ขั้วอำนาจในขณะนั้นด้วยเช่นกัน…

ยานอวกาศ และ ยานยนต์
ไม่ได้มีแค่เสียงเครื่องยนต์ V8 เท่านั้นที่ดังสั่นท้องถนนในยุค 50 แต่ความสวยงามของท้ายรถที่คล้ายกับส่วนหางของเครื่องบินเจ็ทเองก็โด่งดังไม่แพ้กัน
ตัวถังรถในยุคนั้นล้วนได้รับอิทธิพลในการออกแบบมาจากเครื่องบินเจ็ท จรวด และ กระสวยอวกาศ
มีความพยายามที่จะติดตั้งอุปกรณ์ล้ำๆ ในยุคนั้นอย่างทีวี วิทยุสื่อสาร เข้าไปในรถ รวมทั้งการออกแบบเสาอากาศที่เลียนแบบอุตสาหกรรมการบินด้วย
Cadillac Cyclone 1959
Harley Earl รองประธานของ General Motors คือผู้จุดประกายดีไซน์ที่ว่านี้ โดยฝากผลงานไว้กับ Buick le Sabre คอนเซปต์คาร์ที่เปิดตัวเมื่อปี 1951
คอนเซปต์คาร์คันนี้มีจุดเด่นอยู่ที่รูปทรงของมัน ที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากจรวด หลังคาแบบโดม กระจังหน้าหัวกระสุน และที่ขาดไม่ด้เลยก็คือส่วนท้ายรถที่เหมือนกับปีกเครื่องบิน
Harley Earl กับ Buick le Sabre
.
“ในตอนนั้นผู้คนต้องการสิ่งที่ดูทันสมัยและล้ำหน้า มันเป็นช่วงเวลาที่พวกเรากำลังมองไปข้างหน้า และมีความรู้สึกว่าสิ่งดีๆ กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต”
Robert Edwards ผู้อำนวยการสร้างสารคดีเกี่ยวกับการออกแบบรถยนต์ American Dreaming ให้สัมภาษณ์
Ford Mystere คอนเซปต์คาร์จากปี 1955
คอนเซปต์คาร์จากหลายค่ายที่ทยอยตามมาหลังการเปิดตัวของ Buick le Sabre เช่น
Ford Mystere ในปี 1955 ที่ชูจุดเด่นในเรื่องอุปกรณ์สุดล้ำภายในรถ ไม่ว่าจะเป็นทีวี โทรศัพท์ รวมทั้งการออกแบบปุ่มควบคุมต่างๆ ที่ให้ความรู้สึกถึงโลกอนาคต
Mercury XM-Turnpike Cruiser ปี 1956 ที่มีจุดขายคือห้องโดยสารที่สามารถเห็นวิวได้แบบ 360 องศา
หรือ Oldsmobile (บริษัทรถในเครือ GM) กับรถรุ่นที่บ่งบอกว่านี่คือยุคอวกาศอย่างแท้จริงอย่าง Golden Rocket ที่เปิดตัวในปี 1956 เช่นเดียวกัน
Oldsmobile Golden Rocket ปี 1956
แม้จะมีค่ายรถหลายค่ายที่ให้ความสนใจในการออกแบบรถลักษณะนี้ แต่หากจะถามผลงานจากค่ายไหนที่น่าสนใจมากที่สุด เราคงต้องขอยกให้โปรเจกต์ Firebird จากค่าย General Motors ที่มีการปล่อยรถต้นแบบภายใต้ชื่อนี้ออกมาถึง 4 รุ่นด้วยกัน
การเปิดตัวรถในโปรเจกต์ Firebird ของ GM
GM Firebird รถติดเครื่องไอพ่น
Firebird เป็นโปรเจกต์ของทาง GM ที่พยายามจะนำเครื่องไอพ่นมาติดตั้งในรถยนต์ โดยมี Emmett Conklin เป็นหัวหน้าทีมวิศวกร รับผิดชอบในส่วนของเครื่องยนต์
ส่วนงานออกแบบนั้น Harley Earl รองประธานของ GM ผู้ที่ริเริ่มรถในรูปทรงเครื่องบินเป็นผู้รับผิดชอบ
Harley Earl กับรถในโปรเจกต์ Firebird
Firebird I รถที่นั่งเดียว ตัวถังทำจากวัสดุไฟเบอร์กลาส ใช้ล้อของเครื่องบินเจ็ท ติดตั้งเครื่องไอพ่นให้กำลัง 370 แรงม้า ทำความเร็วสูงสุดในการทดสอบได้ 160 กม./ชม.
แม้ว่าจะไม่ได้ทำความเร็วจนกลายเป็นสถิติโลก แต่การทดสอบ Firebird I ซึ่งเป็นรถติดเครื่องไอพ่นคันแรกของสหรัฐฯ ก็ทำให้ทางค่ายเห็นความเป็นไปได้ในการพัฒนาโปรเจกต์นี้ต่อ
3 ปีต่อมา GM ปล่อย Firebird II โดยรุ่นนี้มีการปรับโฉมภายนอกใหม่ วางตำแหน่งเอาไว้เป็นรถครอบครัวมาพร้อมเบาะแบบ 4 ที่นั่ง และมีการปรับตัวถังให้น้ำหนักเบาลง ด้วยการเปลี่ยนมาใช้ไทเทเนียมแทนไฟเบอร์กลาส
แถมยังนำมันออกไปปรากฎตัวในหนังเรื่อง Design for Dreaming ที่ทาง GM เป็นสปอนเซอร์
ปี 1958 GM ปล่อย Firebird III โดยยังคงคอนเซปต์เดิมคือ เครื่องไอพ่นและตัวถังแบบเครื่องบิน แต่รถต้นแบบคันนี้ปรับเบาะโดยสารให้เป็นแบบ 2 ที่นั่ง และหลังคาแยกส่วน
มีการติดตั้งระบบสุดล้ำในยุคนั้นเข้ามาด้วยอย่างเช่น ระบบควบคุมความเร็ว Cruise Control ระบบป้องกันล้อล็อคหรือ ABS ระบบปรับอากาศ
(สิ่งเหล่านี้เป็นเหมือนอุปกรณ์มาตรฐานของรถหลายรุ่นในปัจจุบัน)
Firebird III
.
รถรุ่นดังกล่าวยังได้รับการผลิตต่อไปอีกในยุคถัดมา เพราะในงาน New York World’s Fair ปี 1964 ทางค่ายส่ง Firebird IV คันสุดท้ายออกมา โดยใช้ชื่อว่า Buick Century Cruiser Concept
แน่นอนว่ายังคงใช้เครื่องยนต์ไอพ่นแบบเดิม แต่มีการติดตั้งออปชั่นพิเศษเพิ่มเข้าไปเช่น เรดาร์ตรวจจับรถคันอื่นๆ และระบบไร้คนขับ
ส่วนภายในห้องโดยสารออกแบบให้ดูหรูหรา ให้ความรู้สึกเหมือนกำลังนั่งอยู่ในห้องนั่งเล่น มีทั้งโต๊ะสำหรับเล่นเกม และตู้เย็นมาให้ด้วย
Buick Century Cruiser Concept
.
จุดสิ้นสุดของรถทรงจรวด
เมื่อมีจุดเริ่มต้น มีความนิยม ก็ย่อมสร่างซาไปในท้ายที่สุด
การออกแบบรูปทรงเครื่องบินเริ่มหายไป หลังจากก้าวผ่านยุคค 1960 ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่การแข่งรถแบบควอเตอร์ไมล์เริ่มได้รับความนิยมมากขึ้น
ในตอนนั้นค่ายรถหลายค่ายให้ความสนใจในการพัฒนาเครื่องยนต์พละกำลังสูงอย่างเครื่อง V8 และเริ่มปรับรูปทรงรถให้มีขนาดเล็กลง เพื่อให้ทำเวลาในสนามได้ดีขึ้น
นอกจากการแข่งกันที่เครื่องยนต์มากกว่ารูปทรงแล้ว นั่นทำให้รูปทรงรถเปลี่ยนความนิยมไปตามยุคสมัยด้วยเช่นกัน
หลังจากที่ “นีล อาร์มสตรอง” เหยียบดวงจันทร์ได้เป็นผลสำเร็จ รถทรงจรวด ก็คือรถที่ดูเริ่มล้าสมัย และก็ยังไม่มีความคลาสสิคพอจะส่งต่อไปยังรุ่นถัดไป
แม้ว่าจะเป็นช่วงเวลาสั้นๆ แต่การออกแบบรถยนต์ที่ได้รับอิทธิพลจากยานอวกาศในช่วงยุค 50 ก็ทำให้เราได้เห็นรถเจ๋งๆ มากมาย
และอุปกรณ์ที่เป็นส่วนหนึ่งแนวคิดการสร้างรถแห่งอนาคต ณ เวลานั้น ก็ยังถูกนำมาใช้กับรถในปัจจุบันด้วย ไม่ว่าจะเป็นทีวีในรถ ระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติ
หรือแม้แต่รถยนต์ไร้คนขับที่กำลังจะเกิดขึ้นจริงในเร็วๆ นี้เช่นกันครับ…
ที่มา fiftiesweb, retrowaste, hemmings, howstuffworks, oldcarsweekly, motor1