เคยเบื่อรถติดจนมีความคิดอยากให้รถบินได้กันไหม?
มันอาจจะเป็นความคิดที่เพ้อเจ้อไปสักนิด เพราะปัจจุบันรถบิน มีอยู่แค่ในภาพยนตร์ไซไฟล้ำยุคเท่านั้น
แต่เรื่องดังกล่าวอาจจะไม่ใช่เรื่องเกินจริงอีกต่อไป…
หลังจากที่เมื่อปีที่แล้ว หน่วยงานรัฐของประเทศญี่ปุ่นได้ทำการประกาศว่าจะสร้าง “รถที่สามารถบินได้” ขึ้นมา และพวกเขาก็ลงมือทำมันจริงๆ
เปิดโปรเจกต์ “รถบิน” จากแดนอาทิตย์อุทัย
เมื่อเดือนสิงหาคม 2018 ที่ผ่านมา รัฐบาลของญี่ปุ่นได้ทำการก่อตั้งสมาคมความร่วมมือระหว่างภาครัฐ-เอกชน ขึ้นมา
โดยมีเป้าหมายคือการพัฒนา “ยานพาหนะเคลื่อนที่บนท้องฟ้าในอนาคต” ให้ได้
โดยหัวเรือหลักของสมาคมนี้คือ 2 หน่วยงานจากภาครัฐได้แก่ กระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม (METI) และ กระทรวงการขนส่งและการท่องเที่ยว (MLIT)
ส่วนบริษัทเอกชนที่เข้าร่วมก็เป็นบริษัทระดับบิ๊กของประเทศ ทั้ง NEC Corp, Japan Airlines, Subaru, Uber Japan และ Boeing Japan
เข้ามาทำงานร่วมกับบริษัทที่เชี่ยวชาญในด้าน โดรนและยานพาหนะทางอากาศในประเทศ อย่าง Drone Fund, Cartivator, Prodrone, teTra aviation, SkyDrive และ Temma
จากนั้นในเดือนธันวาคม 2018 ทางสมาคมก็ได้ทำการปล่อยโรดแมพของแผนรถยนต์บินได้ออกมา โดยมีรายละเอียดคร่าวๆ ดังนี้
– จะเริ่มทดสอบรถบินตัวต้นแบบภายในปี 2019
– ตั้งเป้าเริ่มใช้รถบินเพื่อการขนส่งสินค้าภายในปี 2023
– ตั้งเป้าให้รถบินกลายเป็นเป็นยานพาหนะสำหรับบุคคลทั่วไป นับตั้งแต่ปี 2030 เป็นต้นไป
นั่นหมายความว่า หากแผนเป็นไปตามกำหนด ในอีก 10 ปีข้างหน้า ญี่ปุ่นจะมีรถยนต์บินได้กันทั่วไปบนท้องถนนและท้องฟ้านั่นเอง
สิ่งที่กล่าวไปทั้งหมดได้แสดงให้เห็นว่า ญี่ปุ่น “เอาจริง” กับโปรเจกต์รถบินในครั้งนี้…
รถบินในความคิดของญี่ปุ่นเป็นอย่างไร?
Keita Arakaki หัวหน้าสำนักการบินพลเรือนที่อยู่ในกรมการขนส่งได้เผยว่า
รถยนต์บินได้จะเป็นยานพาหนะที่มีการตั้งใบพัดเข้าไป ให้รถสามารถออกบินและลงจอดในแนวตั้งได้เหมือนกับ “เฮลิคอปเตอร์”
ส่วนดีไซน์ของรถบินก็ถูกออกแบบมาแตกต่างกันออกไปตามแต่จินตนาการของแต่ละหน่วยงานที่เข้ามาร่วมมือกัน
แต่ส่วนมากหลายหน่วยงานจะออกแบบให้รถบินนั้นมีลักษระคล้ายกับ “โดรน”

ส่วนจุดประสงค์หลักที่ญี่ปุ่นได้ทำการพัฒนารถบินอย่างจริงจังนั่นเป็นเพราะว่า.. พวกเขาอยากจะเชื่อมต่อการคมนาคมของประเทศ ที่สะดวกอยู่แล้ว ให้สะดวกยิ่งขึ้นไปอีก
ประการแรก เมื่อรถบินเข้ามามีบทบาทในชีวิต ผู้คนก็จะสามารถอาศัยอยู่นอกเมืองได้ไม่ว่าจะเป็นในภูเขาหรือบนเกาะ เพราะสามารถเดินทางมาทำงานหรือไปโรงเรียนได้อย่างสะดวก
ส่งผลให้ความแออัดในเมืองจะลดลง ทั้งด้านการจราจรและจำนวนคนที่เข้ามาอาศัย
ที่สำคัญรถบินจะเป็นประโยชน์อย่างมากกับการขนย้ายผู้ป่วยฉุกเฉินที่ต้องพาไปให้ถึงมือหมอที่โรงพยาบาลอย่างด่วน
โฆษณาที่ชี้ให้เห็นว่าแม้จะอาศัยอยู่นอกเมือง คุณก็สามารถไปทำงานได้ทันเวลาด้วยรถบิน
โฆษณาโปรเจกต์รถบินที่แสดงให้เห็นถึงความมีประสิทธิภาพในการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยได้ทันท่วงที
“รถบินต้นแบบ” ถูกสร้างเสร็จและเริ่มทดสอบแล้ว
หลังจากประกาศแผนออกมาในปีที่แล้ว ในที่สุดรถบินก็ถูกสร้างเสร็จเป็นที่เรียบร้อยจาก NEC Corp
โดยตัวรถถูกออกแบบมาเป็นรถ 3 ล้อ และมีใบพัด 4 ตัวรอบคัน ลักษณะคล้ายโดรนอย่างที่พวกเขาได้วางเอาไว้
เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2019 ทาง NEC Corp ได้ทำการทดสอบรถบินคันนี้ให้สื่อมวลชมได้ดู
โดยตัวรถบินได้โชว์ศักยภาพในการลอยตัวขึ้นเหนือพื้นประมาณ 3 เมตร เป็นเวลาราวๆ 1 นาที
แม้มันอาจจะดูห่างไกลกับการใช้งานจริง แต่ก็นับว่านี่คือเป็นก้าวแรกของยานยนต์แบบใหม่ที่ญี่ปุ่นมองว่ามันคือ “อนาคต”
การทดสอบรถบินต่อหน้าสื่อเป็นครั้งแรก
อนาคตของรถยนต์บินได้
หลังจากสร้างรถบินขึ้นมาและประสบผลสำเร็จในการทดสอบไปเมื่อ 5 สิงหาคม 2019 ถือว่าทีมพัฒนาทำได้ตรงตามแผน
ต่อจากนี้ทีมพัฒนาจะเน้นไปที่การพัฒนาให้รถบินสามารถใช้งานเพื่อการขนส่งตามแผนที่วางไว้ภายในปี 2023 เสียก่อน
โดยสองหน่วยงานรัฐทั้ง METI และ MLIT เห็นตรงกันว่ารถบินเพื่อการขนส่งจะเน้นใช้งานสำหรับพื้นที่ชนบทและภูเขาเป็นหลัก
สำหรับรถบินเพื่อการขนส่ง เริ่มต้นทางภาครัฐมีแผนว่าจะใช้นักบินที่มีประสบการณ์ใช้เป็นคนขับทดสอบ
จากนั้นก็เตรียมจะบัญญัติมาตรฐานและข้อบังคับสำหรับการทำใบอนุญาติขับขี่รถบิน เพื่อให้คนทั่วไปเข้าถึงรถบินได้ในอนาคตข้างหน้า
พวกเขายังเปิดเผยว่า มีความตั้งใจที่จะใส่ “ระบบขับเคลื่อนไร้คนขับ” ให้กับรถบินอีกด้วย
เป็นที่รู้กันดีว่า ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ถ้าตั้งใจทำอะไรแล้ว พวกเขามักจะทำสำเร็จ และทำออกมาได้ดีด้วย
เช่นเดียวกับโปรเจกต์รถบินครั้งนี้ ที่เราได้เห็นความตั้งใจอันแน่วแน่จากความร่วมมือกันจากทั้งรัฐบาลและเอกชน
รถบินที่ปัจจุบันเราเห็นได้แค่ในในภาพยนตร์ มีโอกาสที่จะเกิดขึ้นมาจริงๆ แล้วที่ญี่ปุ่นแล้วในอีก 10 ปีข้างหน้า ถึงเวลานั้นถ้ามันมีรถบินเต็มท้องฟ้าไปหมด มันคงเป็นอะไรที่น่าทึ่งและน่าสนใจไม่น้อย
คุณคิดว่าอย่างไรครับ…!?
แหล่งอ้างอิง: meti (1)(2)(3), ieee, bloomberg, reuters