จากข้อมูลยอดขายรถเมื่อปี 2018 ที่ผ่านมา JATO Dynamics บริษัทให้ข้อมูลด้านยานยนต์ระดับโลก จากประเทศอังกฤษ ประกาศผลจัดอันดับรถที่มียอดขายมากที่สุดในโลก
โดยมีชื่อของ Geely และ Changan 2 ค่ายรถจากแดนมังกร ที่ก้าวเข้ามาติด Top 20 ได้เป็นผลสำเร็จ
และไม่เพียงเท่านั้น ในโผการจัดอันดับดังกล่าว ยังมีค่ายรถจากประเทศจีนอีกหลายค่ายที่เข้ามาติดอันดับ 1 ใน 50 แบรนด์รถยนต์ที่มียอดขายมากที่สุดในโลกด้วย
หากดูจากอันดับดังกล่าว แสดงว่าที่ผ่านมา ค่ายรถจากจีนก็มีการเติบโตที่น่าสนใจ
และนอกเหนือไปจากนั้น การได้เห็นชื่อของค่ายรถจากแผ่นดินใหญ่ เข้าซื้อหุ้นของยานยนต์จากโลกตะวันตก ทั้งฝั่งอเมริกาและยุโรปอยู่บ่อยครั้ง
ก็ชวนให้เราอดสงสัยไม่ได้ว่า…
แท้จริงแล้วค่ายรถจากจีนนั้นมีขนาดใหญ่มากแค่ไหน??
มีแบรนด์รถชื่อดังแบรนด์ไหน ที่อยู่ภายใต้การบริหารของค่ายจากจีนบ้าง??
ซึ่งภาพรวมค่ายรถที่ถูกยกให้เป็น Big 4 จากประเทศจีน ที่เราสรุปมาให้คุณผู้อ่านในครั้งนี้ อาจช่วยตอบคำถามเหล่านี้ได้ครับ…
1. Geely Automobile
รูปแบบการดำเนินการ: บริษัทเอกชน
ก่อตั้งเมื่อ: ปี 1986
สำนักงานใหญ่: เมืองหางโจว ประเทศจีน
เรื่องราวที่น่าสนใจ
– Geely เริ่มต้นจากการเป็นโรงงานผลิตตู้เย็น ก่อตั้งโดยนาย Li Shufu หลังจากนั้นก็ผันตัวเข้าสู่อุตสาหกรรมยานนนต์ด้วยการผลิตมอเตอร์ไซค์ ก่อนจะได้รับอนุญาติให้ผลิตรถยนต์ส่วนบุคคลในภายหลัง
– ปี 1999 Geely ปล่อย Geely HQ (Haoqing) รถรุ่นแรกของค่าย ออกสู่ตลาด ซึ่งมีพื้นฐานมาจากรถญี่ปุ่นอย่าง Daihatsu Charade
– ในปี 2010 Geely เข้าซื้อ Volvo จาก Ford ด้วยมูลค่า 1,800 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 55,000 ล้านบาท) และกลายเป็น “บริษัทรถยนต์ข้ามชาติ” รายแรกของจีน
– มีหลายบริษัทที่อยู่ในการดูแลของ Geely เช่น London Taxi Company (ผู้ให้บริการแท็กซี่อังกฤษ), Proton (ค่ายรถจากมาเลเซีย), Lotus (ค่ายรถหรูจากอังกฤษ) และ Terrafugia (บริษัทผู้พัฒนาแท็กซี่บินได้ จากสหรัฐ)
– Geely ถือยังถือหุ้นอีก 8.2% ใน Volvo Group และอีก 9.2% ใน Daimler (บริษัทแม่ของ Mercedes-Benz )
– ปี 2018 ยอดขายรถของ Geely เพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า และกลายเป็นหนึ่งในค่ายรถจากประเทศจีนที่ประสบความสำเร็จมากที่สุด จนถูกขนานนามว่า “Big 4”

2. Shanghai Automotive Industry Corporation (SAIC)
รูปแบบการดำเนินการ: รัฐวิสาหกิจ
ก่อตั้งเมื่อ: ปี 1955
สำนักงานใหญ่: เมืองเซียงไฮ้ ประเทศจีน
เรื่องราวที่น่าสนใจ
– SAIC เป็นหนึ่งในผู้ผลิตรถยนต์อันเก่าแก่ของจีน ถูกก่อตั้งขึ้นเพื่อผลิตรถยนต์รุ่น Shanghai SH760 รถยนต์สำหรับข้าราชการขั้นสูงในสมัยของเหมาเจ๋อตุง เริ่มสายการผลิตครั้งแรกในปี 1958
– ปี 1984 SAIC ทำหน้าที่เป็นโรงงานผลิตรถยนต์ของ Volkswagen ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมทุนตั้งบริษัท Shanghai Volkswagen Automotive Co Ltd.
– ปี 1997 SAIC จับมือกับ General Motors และกลายเป็นฐานการผลิตของ Buick (แบรนด์รถในเครือ GM) ที่ประเทศจีน
– ปี 2007 SAIC เข้าซื้อ Nanjing Automobile Group ซึ่งขณะนั้นเป็นเจ้าของ MG ค่ายรถเก่าแก่จากอังกฤษ จึงกลายเป็นเจ้าของ MG ไปด้วย
– SAIC มีแบรนด์รถยนต์ในเครือมากกว่า 15 แบรนด์ คลอบคุมในหลายกลุ่มลูกค้า
– ปี 2013 SAIC ร่วมทุนกับเครือ CP ก่อตั้งบริษัท SAIC Motor – CP ลงทุนกว่า 9,000 ล้านบาท เพื่อก่อสร้างโรงงานประกอบรถยนต์ MG ในเมืองไทย
โดยรถยนต์รุ่นแรกของ MG ใประเทศไทยคือ MG 6 ที่เปิดตัวเมื่อเดือน มิถุนายน 2014
– ต่อมาปี 2018 SAIC เป็นบริษัทที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 36 จากการจัดอันดับ 500 บริษัทที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยนิตยสาร Fortune
และในปีเดียวกันนั้น SAIC เป็นบริษัทรถยนต์ที่สามารถสร้างรายได้มากถึง 128,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 3.9 ล้านล้านบาท)
3. Dongfeng Motor Corporation
รูปแบบการดำเนินการ: รัฐวิสาหกิจ
ก่อตั้งเมื่อ: ปี 1969
สำนักงานใหญ่: เมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย
เรื่องราวที่น่าสนใจ
– นี่คือโรงงานผลิตรถยนต์ที่ก่อตั้งขึ้นในยุคของเหมาเจ๋อตุง เน้นการผลิตรถเพื่อการพาณิชย์เป็นหลัก ในอดีตสินค้าส่วนใหญ่เป็นรถเพื่อการพาณิชย์และเพื่อใช้งานในธุรกิจถึง 73%
– ต่อมามีการปรับกลยุทธ์ เน้นการผลิตรถยนต์ส่วนบุคคลมากขึ้น
– ปี 2010 Dongfeng พวกเขาก้าวขึ้นมาเป็นผู้ผลิตรถยนต์เบอร์ 2 ของจีนได้สำเร็จ มียอดขายทั้งสิ้น 2.72 ล้านคัน (เป็นรถยนต์ส่วนบุคคล 1.72 ล้านคันในปีนั้น)
– Dongfeng ร่วมลงทุนกับค่ายรถต่างชาติหลายรายเช่น Honda, Kia, Infiniti, Nissan, PSA และ Renault
– เมื่อปี 2018 ที่ผ่านมา Dongfeng ตั้งเป้าปล่อยรถยนต์ไฟฟ้ากว่า 20 รุ่นในทุกแบรนด์ของพวกเขา
– และจะปล่อยรถยนต์ไฟฟ้า 6 รุ่น ที่ร่วมมือกับทาง Nissan ภายในปี 2018-2019
พร้อมประกาศตั้งเป้าเพิ่มยอดขายรถให้ได้ 2.6 ล้านคัน ภายในปี 4 ปี โดย 30% ของยอดขาย หรือประมาณ 800,000 คันนั้นจะต้องเป็นรถพลังงานไฟฟ้าอีกด้วย

4. Changan Automobile Group
รูปแบบการดำเนินการ: รัฐวิสาหกิจ
ก่อตั้งเมื่อ: ปี 1862
สำนักงานใหญ่: เทศบาลนคร ฉงชิ่ง
เรื่องราวที่น่าสนใจ
– Changan เริ่มต้นจากการเป็นโรงงานสำหรับผลิตยุทโธปกรณ์ เพราะเป็นกิจการที่ก่อตั้งโดย Li Hongzhang (หลี่ หงจาง) ผู้บัญชาการทหาร และนักการทูตชาวจีนในสมัยราชวงศ์ชิง
– Changan Automobile Group ทำตลาดในกลุ่มยานยนต์หลายกลุ่ม โดยแบรนด์ Changan และ Hefei จะทำตลาดในกลุ่มรถยนต์ส่วนบุคคล
และทำตลาดในกลุ่มรถเพื่อการพาณิชย์ใต้แบรนด์ Chana
– นอกจากนี้ยังมีการร่วมลงทุนกับค่ายรถหลายค่ายที่เข้ามาทำตลาดในประเทศจีน เช่น Ford, Mazda, Peugeot-Citroen, DS Automobiles และ Suzuk
แม้เรื่องราวของ Changan Automobile Group จะไม่ค่อยหวือหวาเท่ากับ 3 ค่ายที่ยกตัวอย่างมาทีแรก แต่พวกเขาก็ได้ชื่อว่าเป็นบริษัทเก่าแก่ร้อยกว่าปี และมีความมั่นคงเสมอมาเช่นกัน

นอกจาก Big 4 ที่เรายกตัวอย่างมานี้ ยังมีค่ายรถจากแดนมังกรอีกหลายรายที่เรายังไม่ได้พูดถึง อย่างเช่น BYD ที่ผันตัวมาจากผู้ผลิตแบตเตอรรี่รายใหญ่ และกำลังจริงจังกับการลุยตลาดรถยนต์ไฟฟ้า
หรือ NIO สตาร์ทอัพน้องใหม่ที่กำลังมาแรง จนคนเอาไปเปรียบกับ Tesla ของฝั่งอเมริกันเลยเช่นกัน
อ่านเพิ่มเติม: เปิดประวัติ NIO ค่ายรถยนต์ไฟฟ้ามาแรงจากจีน ที่ถูกขนานนามว่า “ผู้พิชิต Tesla”
ไปรู้จัก BYD บริษัทรถยนต์ไฟฟ้าจีน ที่ใหญ่กว่า Tesla ถึง 3 เท่า เพียงแต่คุณอาจจะไม่เคยได้ยินชื่อ…
ทั้งหมดนี้ก็เป็นที่น่าสนใจอย่างยิ่งว่า ในอนาคตหากค่ายจากจีนเหล่านี้โตขึ้นเรื่อยๆ อุตสาหกรรมยานยนต์ของโลกจะมีทิศทางอย่างไรกัน??
คุณคิดว่าอย่างไรครับ…
ที่มา global.geely, focus2move, headlightmag, autoinfo, nissan-global, autocar