รู้หรือไม่ว่า ‘รถยนต์ไฟฟ้า BEV’ คันแรกของโลกที่ถูกผลิตออกมาเพื่อขายในตลาดจำนวนมาก หรือที่มีศัพท์เรียกว่า Mass Production Car คือรถรุ่นใด?
หลายคนอาจจะนึกถึง Tesla Model S และ Model X ที่เปิดตัวมาเมื่อปี 2013 และถือเป็นผู้บุกเบิกตลาดรถยนต์ไฟฟ้ายุคใหม่ จนทำยอดขายได้อย่างต่อเนื่องจนถึงทุกวันนี้
แต่นั่นเป็นคำตอบที่ผิด…
จริงๆ แล้ว รถยนต์ไฟฟ้าที่ผลิตออกมาเป็นจำนวนมากคันแรกคือ General Motors EV1 ที่ถูกเปิดตัวออกมาเมื่อปี 1996 ต่างหาก
General Motors EV1
แต่การที่คุณและใครหลายๆคน ไม่รู้ถึงการมีอยู่ของรถคันนี้ก็ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจนัก เพราะ General Motors EV1 โลดแล่นอยู่ในตลาดเพียงแค่ 6 ปี
จนสุดท้ายมันก็หายจากตลาดไปอย่างเงียบๆ
เรื่องราวทั้งหมดของรถรุ่นนี้เป็นมาอย่างไร วันนี้เราจะพาผู้อ่านไปรับรู้เรื่องราวนี้กันครับ…

จุดเริ่มต้นของ EV1 ต้องย้อนกลับไปถึงตอนปี 1990 ที่ทาง General Motors ได้สร้างคอนเซปต์รถยนต์ไฟฟ้าและนำมาโชว์ในงานมอเตอร์โชว์เมืองแอลเอ
ปรากฏว่ารถได้รับเสียงตอบรับดีจากคนกลุ่มที่มีหัวใจรักษ์โลกอยู่พอสมควร
และเผอิญว่าในตอนนั้นรัฐ California ซึ่งเป็นรัฐที่มีส่วนแบ่งการตลาดรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดในอเมริกา ก็ได้ออกกฎหมายสนับสนุนด้านรถยนต์พลังงานสะอาดเรียกว่าโปรแกรม Zero Emission Vehicle (ZEV) ออกมา
กฎหมายที่ว่าคือค่ายรถใดที่มาตั้งโรงงานในรัฐ California จะถูกบังคับให้ขายรถยนต์ที่ปล่อยไอเสียไม่เกินกำหนดออกมา 1 รุ่น
เผอิญว่าหวยไปตกที่ General Motors พวกเขาจึงไม่มีทางเลือก และใช้เป็นโอกาสในการเปิดตลาดใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อนด้วย
ทำให้อีก 7 ปีต่อมา General Motors ได้ตัดสินใจนำรถคอนเซปต์นั้น ต่อยอดขึ้นมากลายเป็น General Motors EV1
และที่พิเศษคือพวกเขาใช้ชื่อ General Motors แทนที่จะใช้ชื่อแบรนด์ในค่ายอย่าง Chevrolet หรือ GMC เพราะหวังว่ารถคันนี้จะเป็นปรากฏการณ์ครั้งใหญ่อีกด้วย

ในตอนนั้น GM ตัดสินใจทำให้ EV1 แตกต่างไปจากรถคันอื่นๆ ในตลาดอย่างสิ้นเชิงในด้านรูปร่างดีไซน์ที่หลุดออกมาจากอนาคต (ในมุมมองของคนสมัยนั้น)
ส่วนสเปคของรถก็ใช้แบตเตอรี่แบบตะกั่ว-กรด ทำระยะทางได้ราว 110 – 160 กม. ต่อการชาร์จแบตหนึ่งครั้ง
การทำตลาดของ EV1 ก็ออกมาแตกต่างจากรถยนต์ทั่วไป โดยรถจะไม่ถูกขายขาดให้กับผู้ซื้อ แต่ใช้เป็นระบบเช่าแทน
โดยค่าเช่าจะอยู่ที่ 399 – 549 ดอลลาร์ฯ ต่อเดือน (ราว 12,000 – 16,600 บาท ตามอัตราแลกเปลี่ยนปัจจุบัน) และจะทดลองตลาดเฉพาะที่รัฐ California เท่านั้น

ในงานเปิดตัวรถเมื่อปี 1996 GM สามารถทำสัญญาเช่าได้ 40 คัน และค่ายก็เล็งให้ยอดถึง 100 คันในสิ้นปี
ปรากฎว่าค่ายสามารถทำได้ตามเป้า และเสียงตอบรับของรถก็ออกมาดีในกลุ่มคนรักษ์โลกที่ไปพูดปากต่อปากกันถึงเทคโนโลยีใหม่
ทำให้ในปี 1999 รถ EV1 เจนที่ 2 ก็ถูกเปิดตัวออกมาโดยพัฒนาสเปคให้ดีขึ้นด้วยเทคโนโลยีของแบตเตอรี่ที่ดีขึ้นก็ทำให้รถวิ่งได้ 160 – 230 กม.
ส่วนโปรแกรมเช่า EV1 ก็ถูกขยายไปอีก 3 เมืองใหญ่ทั้ง ซานดิเอโก, ซาคราเมนโต และแอตแลนตา
โครงการดูเหมือนจะไปได้สวย จนกระทั่งในปี 2002 ทาง GM ไม่อยากจะดำเนินโครงการต่อไปอีกแล้ว
เพราะถึงแม้รถจะได้รับการตอบรับดี แต่รถทำกำไรให้กับค่ายได้ต่ำมากเมื่อเทียบกับรถยนต์น้ำมัน รวมถึงอะไหล่ในการบำรุงรักษา EV1 ก็แพงมาก ยิ่งดำเนินโครงการต่อไป ยิ่งมีแต่เจ็บตัว
ทาง GM จึงได้ยื่นเรื่องไปยังศาลให้พิจารณาข้อกฎหมาย ZEV ของรัฐใหม่อีกครั้ง เพราะคิดว่าข้อบังคับนั้นเป็นเรื่องเกินจริงเกินกว่าที่ค่ายรถค่ายไหนจะทำให้สำเร็จได้ และศาลก็รับเรื่องทำให้มีการแก้กฎหมายทันที
นั่นทำให้ในปี 2003 GM ตัดสินใจเรียกคืนรถทั้งหมดและเคลียร์ค่าใช้จ่ายต่างๆ ให้กับผู้เช่าเพื่อฉีกสัญญา
พอฉีกสัญญาแล้ว รถที่เหลือล่ะ!?
ก่อนที่พวกเขาจะนำรถทั้งหมดไปบดทิ้งในสุสานรถนั่นเอง

ซึ่งนั่นทำให้ผู้ใช้ EV1 ที่มีหัวใจรักษ์โลกทุกคนใจสลายอย่างหนัก จนถึงกับมีการจัดงานไว้อาลัยให้กับรถกันเลยทีเดียว
สุดท้าย ชื่อของ EV1 ก็กลายเป็นอดีตที่ถูกยกว่านี่คือรถยนต์ไฟฟ้าแบบผลิตออกมาเป็นจำนวนมากคันแรกของโลก
และเป็นรถรุ่นเดียวที่ถูกใช้ชื่อแบรนด์ว่า General Motors มาจนถึงปัจจุบัน…
บรรยากาศในงานไว้อาลัย EV1

ถึงแม้จะบอกไม่ได้ว่า EV1 คือรถที่ประสบความสำเร็จ เพราะเดิมทีมันก็เป็นรถที่ค่ายรถไม่ได้อยากสร้างขึ้นมาตั้งแต่แรก หากไม่มีเรื่องกฎหมายมาเกี่ยวข้อง
แต่มันก็ทำให้ได้รู้ว่ามีคนกลุ่มนึงที่ถึงแม้จะเป็นกลุ่มเล็กๆ แต่พวกเขาก็โหยหาทางเลือกใหม่ อย่างเช่นรถพลังงานสะอาด
และเป็นกรณีศึกษาให้กับค่ายรถยนต์ไฟฟ้าที่ตามมาอย่าง Tesla และทำให้ได้รู้ว่าการจะประสบความสำเร็จได้นั้น การทำรถออกมาให้กลุ่มคนรักษ์โลกอย่างเดียวนั้นไม่พอ
แต่ต้องทำรถให้ดีพอให้คนที่ใช้รถน้ำมันกล้าเปลี่ยนมาใช้รถยนต์ไฟฟ้าให้ได้ ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ Tesla และอีกหลายค่ายกำลังพยายามทำอยู่ในยุคปัจจุบันนั่นเอง
สิ่งที่ดีไม่ได้การันตีว่าจะประสบความสำเร็จเสมอไป
แต่มันก็ต้องเป็นสิ่งที่ดี มาในเวลาเหมาะสม และถูกใจผู้บริโภคจำนวนมากด้วย
นี่คงเป็นข้อคิดที่ใช้ได้กับแทบทุกตลาดและสินค้าเช่นกันครับ..
ที่มา: businessinsider, medium, digitaltrends, motor1