หลังจากที่ General Motors ประกาศเลิกทำตลาดแบรนด์ Chevrolet ในประเทศไทย กลายเป็นกระแสฮือฮาอย่างมากทั้งในวงการยานยนต์และคนทั่วไป
แม้จะน่าตกใจกับการตัดสินใจของค่ายอเมริกัน แต่ก็มีเรื่องที่น่าสนใจในการประกาศครั้งนี้ด้วย ซึ่งก็คือ General Motors ได้ประกาศว่าขายโรงงานไปให้กับค่ายรถจากจีนที่ชื่อว่า Great Wall Motors (GWM)
ซึ่งแน่นอนว่านี่คือชื่อที่หลายคนไม่คุ้นเคย เพราะที่ผ่านมามีค่ายจีนน้อยค่ายนักที่จะออกมาทำตลาดนอกประเทศ (ปกติแค่ขายในประเทศก็ขายได้เยอะแล้วด้วยจำนวนประชากร)
รวมถึงการที่ Great Wall Motors ไม่ได้มีแบรนด์ในเครือที่คนนอกประเทศจีนจะรู้จัก เหมือนอย่างที่ SAIC มีแบรนด์ MG ก็ยิ่งทำให้คนทำหน้างงๆ ไปใหญ่ เมื่อถามถึงรถของค่ายดังกล่าว
วันนี้เราจึงจะพาผู้อ่านไปรู้จักว่าแบรนด์รถในเครือของ GWM มีอะไรบ้าง และมีรถรุ่นใดที่น่าสนใจบ้าง เพราะไม่แน่ว่าในอนาคตรถที่ว่าไปนั้นจะถูกทำตลาดในบ้านเราก็เป็นได้..
ข้อมูลเบื้องต้น Great Wall Motors
เป็นแบรนด์ที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 1984 ผลิตรถออกมาขายทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นรถเก๋งซีดาน, รถเอสยูวี รวมถึงรถกระบะ ซึ่งค่ายจะมีชื่อเสียงในด้านรถกระบะที่สุด
เดิมทีรถของค่ายจะใช้ชื่อว่า Great Wall ตามด้วยชื่อรุ่น แต่หลังจากที่แตกแบรนด์ย่อยออกมาในปี 2013 ทางค่ายจึงเลิกใช้ชื่อ Great Wall ไป โดยไปเน้นใช้ชื่อแบรนด์ย่อย 4 แบรนด์ที่แตกต่างกันดังนี้
1. GWM Pickup – ด้วยการที่ Great Wall อยากให้รถกระบะของพวกเขาไปสู่ระดับโลก จึงก่อตั้งแบรนด์แยกออกมาในปี 2018 และตั้งเป้าว่าจะต้องขึ้นเป็นเจ้าตลาดรถกระบะอันดับ 3 ของโลก รองจาก Toyota และ Ford ให้สำเร็จให้ได้
2. HAVAL – แบรนด์ย่อยที่เน้นทำรถเอสยูวีขายเท่านั้น
3. Ora – แบรนด์ย่อยที่เน้นในด้านรถยนต์ไฟฟ้าโดยเฉพาะ
4. WEY – แบรนด์ย่อยที่เน้นขายรถเอสยูวีระดับหรูหรา (Luxury SUV) มีเทคโนโลยีใดในมือก็จะใส่ให้แบรนด์นี้อย่างจัดเต็ม ทั้งไฮบริด ปลั๊กอินไฮบริด และรถยนต์ไฟฟ้าล้วน
รถที่น่าสนใจของแต่ละแบรนด์
Great Wall Cannon (ในรัสเซียใช้ชื่อ Great Wall Pao)
นี่คือรถที่เราคิดว่ามีโอกาสสูงที่สุดที่จะเข้ามาประกอบและทำตลาดในไทย เพราะ GWM ตั้งเป้าไว้ว่าอยากขึ้นเป็นเจ้าตลาดรถกระบะ ฉrนั้นไทยก็เป็นเป้าหมายสำคัญ เพราะที่ไทยนิยมกระบะ 1 ตันติดท็อป 3 ของโลก
บวกกับปัจจัยที่ว่าโรงงานที่เซ้งต่อมาจาก Chevy ก็เป็นโรงงานที่ผลิตรถรถกระบะและรถ PPV เป็นหลักอยู่แล้ว
นอกจากนี้การผลิตรถในไทยยังสามารถส่งออกรถไปที่ออสเตรเลียที่เป็นหนึ่งในประเทศนิยมกระบะ 1 ตัน รองจากไทยได้ด้วยเช่นกัน
จุดเด่นของรถคือมีขนาดที่ใหญ่กว่ากระบะ 1 ตันด้วยกัน มิติตัวถังอยู่ที่ 5,410 x 1,934 x 1,886 มม. (กวาง x ยาว x สูง)
สเปค : เบนซิน 2.0 ลิตร เทอร์โบชาร์จ 190 แรงม้า 360 นิวตัน-เมตร จับคู่กับเกียร์อัตโนมัติ 8 สปีด หรือเกียร์ธรรมดา 6 สปีด ขับเคลื่อน 2 ล้อ RWD หรือ 4 ล้อ 4WD
และ ดีเซล 2.0 เทอร์โบชาร์จ 163 แรงม้า 400 นิวตัน-เมตร จับคู่กับเกียร์ธรรมดา 6 สปีด ขับเคลื่อน 2 ล้อ RWD หรือ 4 ล้อ 4WD
ราคาที่จีน : 97,800 – 159,800 หยวน (ราว 436,000 – 713,000 บาท)
.
Ora R1
จุดเด่นของ Ora R1 ก็คือหน้าตาที่น่ารักคล้ายกับ kei-car ของประเทศญี่ปุ่น และมีขนาดเล็ก เหมาะกับการใช้งานในเมือง
ปัจจุบันมีชาวไทยบางกลุ่มที่โหยหารถยนต์ไฟฟ้าราคาจับต้องได้อยู่มากพอสมควร การเลือกทำตลาดนี้ก็น่าสนใจ แต่การจะผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศนั้นยังมีขั้นตอนที่ยุ่งยากอยู่พอสมควรโดยเฉพาะการผลิตแบตเตอรี่
ทำให้คาดว่าเราอาจจะยังไม่ได้เห็น Ora R1 ในเร็วๆ นี้ แต่ถ้าหากใช้วิธีนำเข้ามาจากจีนผ่าน FTA เสียภาษีนำเข้า 0% เหมือน MG ZS EV ก็เป็นไปได้ (แต่รถก็จะราคาสูงหน่อย)
สเปค : มอเตอร์ไฟฟ้ากำลังสูงสุด 47 แรงม้า แบตเตอรี่ลิเธียมไอออน 33 kWh ทำระยะทางได้ 351 กม./การชาร์จ (ไม่เผยว่าทดสอบด้วยมาตรฐานใด)
ราคาทึ่จีน : 130,800 – 136,800 หยวน (ราว 584,000 – 610,000 บาท)
.
Haval F7
Haval นั้นมีรถเอสยูวีแทบทุกขนาด แต่ที่เรายกมาในวันนี้เป็นรถ C-SUV ที่ทำยอดขายได้ดีที่สุดของค่ายที่แดนมังกรบ้านเกิด ซึ่งก็คือ Haval F7 นั่นเอง
ซึ่งปัจจุบันรถประเภทนี้ในไทยมีเพียงแค่ Honda CR-V และ MG HS ที่ทำยอดขายได้ดี เพราะฉะนั้นหาก GWM เลือกเข้ามาทำตลาดนี้ก็เป็นอะไรที่น่าสนใจไม่น้อย
สเปค : เบนซิน 2.0 เทอร์โบชาร์จ 224 แรงม้า 385 นิวตัน-เมตร จับคู่กับเกียร์อัตโนมัติ DCT 7 สปีด ขับเคลื่อนล้อหน้า หรือ ขับเคลื่อน 4 ล้อ AWD
ราคาที่จีน : 109,000 – 153,700 หยวน (ราว 486,000 – 686,000 บาท)
.
Wey VV6
ด้วยความที่รถคันนี้เป็น Luxury Brand ทำให้เราคิดว่ามีโอกาสน้อยที่ GWM จะทำตลาด Wey ในบ้านเรา (คงสู้ความหรูของค่ายเยอรมันได้ลำบาก) แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้เลย
Wey VV6 นั้นเป็น C-SUV ขนาดเทียบเท่ากับ Haval F7 ที่นำเสนอไปก่อนหน้านี้ แต่ด้านดีไซน์และวัสดุภายในจะให้ความพรีเมียมมากกว่า
สเปค : เบนซิน 2.0 เทอร์โบชาร์จ 227 แรงม้า 387 นิวตัน-เมตร จับคู่กับเกียร์อัตโนมัติ DCT 7 จังหวะ ขับเคลื่อน 2 ล้อหน้า หรือ ขับเคลื่อน 4 ล้อ
ราคาที่จีน : 148,000 – 175,000 หยวน (ราว 660,000 – 780,000 บาท)
.
ปิดท้ายด้วยเกร็ดน่ารู้ของ Great Wall Motors
– GWM เล็งจะเข้ามาตั้งโรงงานในไทยตั้งแต่ปี 2013 ด้วยเงินลงทุนกว่า 2 พันล้านหยวน แต่แผนก็ชะลอออกไปเพราะเลือกไปสร้างโรงงานที่รัสเซียก่อน
– ก่อนที่ GWM เข้าซื้อโรงงานของ General Motors ที่จังหวัดระยอง พวกเขายังทุ่มซื้อโรงงานของ General Motors ที่เมืองบังคาลอร์ ประเทศอินเดียด้วย เมื่อเดือนมกราคม 2020 ที่ผ่านมา
นอกจากจะใช้เป็นที่ประกอบรถยนต์แล้ว จะลงทุนเพื่อสร้างโรงงานผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าด้วย ซึ่งเมื่อไม่นานมานี้ก็ได้เปิดตัวแบรนด์ Haval และ Great Wall EV ที่อินเดียไปแล้ว
– ด้วยการที่ประเทศจีน ไม่อนุญาติให้ค่ายรถต่างชาติเข้ามาทำการค้าในประเทศถ้าหากไม่จับมือกับผู้ผลิตรถในประเทศ (มี Tesla ค่ายเดียวเป็นข้อยกเว้น)
ทำให้ BMW จำเป็นต้องจับมือเป็นคู่ค้ากับ GWM ให้เป็นผู้ผลิตและจัดจำหน่ายในแดนมังกร ค่ายนี้จึงมีผลงานที่น่าสนใจไม่น้อย
และนี่ก็เป็นภาพรวมของ Great Wall Motors หนึ่งในไทยค่ายยักษ์ใหญ่จากประเทศจีนที่จะเข้ามาเป็นผู้เล่นน้องใหม่ในตลาดรถประเทศไทยในอนาคต
รถของพวกเขาน่าสนใจมากแค่ไหน และพวกเขาจะประสบความสำเร็จในการทำตลาดในบ้านเราได้หรือไม่ คิดอย่างไรกันครับ?
แหล่งอ้างอิง: gwm-global, chinamobil, gm