ย้อนกลับไปในช่วงปลายปีก่อน สำนักข่าว BBC ได้ออกแคมเปญ “100 Women” ที่นำเรื่องราวของผู้หญิง 100 คน ผู้สร้างแรงบันดาลใจต่อโลกใบนี้ ที่อาศัยอยู่ทั่วโลก มานำเสนอ
และหนึ่งในนั้นคือบุคคลที่ทางเราเห็นว่าน่าสนใจ รวมถึงน่าจะเป็นกำลังใจในการ “ออกเดินทาง” ของใครอีกหลายๆคน
เธอก็คือ ด๊อกเตอร์ Maral Yazarloo-Pattrick หญิงชาวอิหร่าน ผู้ขับมอเตอร์ไซค์ท่องเที่ยวไปทั่วโลกด้วย BMW F650GS
ภายในเวลา 17 เดือน เธอเดินทางไปไกลถึงกว่า 64 ประเทศ ใน 7 ทวีป ทั้งหมดนี้ทำด้วยตัวเองล้วนๆ
แต่เหตุใดที่ทำให้เธอพิเศษกว่าคนอื่น ถึงได้ติด 1 ใน 100 คนที่ BBC ยกให้เป็นหญิงสาวผู้สร้างแรงบันดาลใจต่อผู้หญิงด้วยกันเอง? ไปติดตามเรื่องราวของเธอกันครับ…
ทุกวันนี้ มีผู้หญิงหลายคนที่ออกท่องเที่ยวรอบโลกด้วยมอเตอร์ไซค์อยู่หลายต่อหลายคน
แต่ตามหลักกฎหมายของประเทศอิหร่านนั้น ผู้หญิงไม่มีสิทธิ์ที่จะขับมอเตอร์ไซค์ในที่สาธารณะ
สิ่งที่ทำให้เธอคนนี้ต่างจากคนอื่นนั่นก็คือ เธอเป็นตัวแทนที่ต้องการแสดงให้เห็นว่า หญิงชาวอิหร่านนั้นมีสิทธิ์และอิสระที่จะขับมอเตอร์ไซด์
นั่นคือสิ่งที่เธอต้องการสื่อให้โลกรู้ และออกเดินทางนับแต่นั้นมา…
ดร. Maral Yazarloo-Pattrick นั้นเป็นชาวอิหร่านโดยกำเนิด แต่เธอย้ายไปที่อินเดียเมื่อ 15 ปีก่อน เพื่อศึกษาต่อในระดับปริญญาโท และปริญญาเอกในสาขาการตลาด จากนั้นเธอก็ตัดสินใจอาศัยและทำงานอยู่ที่นั่น
ก่อนหน้านั้นเธอขับมอเตอร์ไซค์ไม่เป็น เธอเริ่มขับพร้อมกับการเริ่มเรียนในประเทศอินเดีย ที่ใครหลายๆ คนก็ใช้มอเตอร์ไซค์
การที่เธอขับรถไม่เป็นเลยนั้น ไม่แปลกในอิหร่าน แต่แปลกในอินเดีย เพื่อนผู้ชายของเธอนั้นชอบล้อเลียนว่าเธอขับมอเตอร์ไซค์ไม่เป็น
หลังถูกล้อเลียนหลายครั้ง เธอจึงเริ่มโมโห และบอกให้เพื่อนชายคนนั้นสอนวิธีสตาร์ทรถอย่างเดียวพอ เดี๋ยวจะขับให้ดู…!!
จนปัจจุบัน เธอเป็นเจ้าของรถเหล่านี้
Harley-Davidson สองคัน (รุ่น Forty Eigth และ Night Rod Special)
Ducati Diavel
และ BMW F650GS ที่เธอใช้ออกท่องโลก
แล้วอะไรทำให้เธอออกมาเรียกร้องอิสระภาพให้กับหญิงชาวอิหร่าน?
วันหนึ่งเธอได้รับข้อความจากเพื่อนสาวชาวอิหร่านที่ติดต่อกันว่า “เธอนี่โชคดีจังเลยนะ เราหวังเหมือนกันว่าจะสามารถขี่มอเตอร์ไซค์ได้อย่างอิสระบ้าง”
เธอเก็บคำพูดนั้นมาคิด เพราะทุกประเทศทั่วโลกนั้น ผู้คนต่างขับมอเตอร์ไซค์กันได้อย่างอิสระ ไม่เว้นแม้แต่ประเทศมุสลิมอย่าง ยูเออี, กาตาร์, อียิปต์, มาเลเซีย หรืออินโดนีเซีย
เธอคิดว่าการที่ผู้หญิงขับมอเตอร์ไซค์นั้นไม่ได้ขัดแย้งอะไรกับหลักศาสนา แถมเธอก็ไม่เคยเจอปัญหาของการเป็นผู้หญิงในระหว่างขับมอเตอร์ไซค์เลย
เธอจึงเริ่มวางแผน “เที่ยวรอบโลก” เพื่อแสดงออกถึงความอิสระของผู้หญิงที่ควรจะมีสิทธิ์ได้ขับขี่มอเตอร์ไซค์
วันที่ 15 เมษายน 2017 เธอได้เริ่มต้นการเดินทางของเธอจากอินเดีย เพื่อขับไปยัง 64 ประเทศ ใน 7 ทวีป ด้วยระยะทางกว่า 110,000 กม.
ประเทศที่ 64 ที่เธอเลือกจะไปเป็นประเทศสุดท้ายก่อนจะกลับบ้านที่อินเดียคือ “อิหร่าน” บ้านเกิดของเธอ
และด้วยชื่อเสียง ความโด่งดังในระดับโลก หรืออะไรก็ตามที ในเดือนกรกฏาคม 2018 เธอได้สร้างประวัติศาสตร์ในการเป็นผู้หญิงชาวอิหร่านคนแรกที่ได้เข้าประเทศด้วยมอเตอร์ไซค์โดยที่ไม่โดนจับ
ภาพในวันที่เธอได้เข้าอิหร่านด้วยมอเตอร์ไซค์
เธอไม่ได้เดินทางคนเดียวใน 37 ประเทศสุดท้าย
เธอเล่าว่า Alex แฟนหนุ่มที่คบหากันมาอย่างยาวนานของเธอนั้นเป็นผู้อยู่เบื้องหลังและให้การสนับสนุนมาตลอด
เขาได้บินมาหาเธอในระหว่างการเดินทางถึง 12 ประเทศ และไม่เคยขอให้เธอหยุดเลยสักครั้ง มีแต่จะคอยให้กำลังใจอยู่เสมอ
วันหนึ่ง Alex ได้ขอเธอแต่งงานในระหว่างการเดินทาง และเธอก็ตอบตกลง!!
เธอตัดสินใจบินไปจัดงานแต่งงานกับเขาที่มาชู พิกชู ในประเทศเปรู และวันต่อมาก็บินกลับมาขับมอเตอร์ไซค์เหมือนเดิม
และไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่า 6 เดือนสุดท้ายของการเดินทางนั้น เธอขับมอเตอร์ไซค์ไปด้วยและตั้งครรภ์ไปด้วย…
หลังจากออกจากอิหร่านที่เป็นประเทศที่ 64 และประเทศสุดท้ายของการเดินทาง เธอก็กลับบ้านที่อินเดียในเดือนสิงหาคม 2018
จากนั้นลูกสาวของเธอลืมตาดูโลกออกมาไม่นานหลังจากที่เธอเสร็จสิ้นภารกิจและกลับมาบ้านที่อินเดียในเดือนสิงหาคม 2018
ถึงแม้เธอจะได้เป็นหญิงชาวอิหร่านคนแรกที่มีสิทธิ์ขับมอเตอร์ไซค์ในประเทศโดยไม่ถูกจับ แต่ก็ไม่ได้ทำให้อิหร่านยกเลิกกฎหมายห้ามผู้หญิงขับมอเตอร์ไซค์ในที่สาธารณะอยู่ดี
แต่เธอเชื่อว่าสิ่งที่เธอทำลงไปนั้น จะช่วยให้กระบอกเสียงเพื่อเรียกร้องสิทธิให้กับหญิงชาวอิหร่านที่รักในการขับมอเตอร์ไซค์
และเธอก็หวังว่าวันหนึ่งฝันของพวกเขาจะเป็นจริงได้ “เป้าหมายของฉันคือสนับสนุนหญิงชาวอิหร่านที่รักการขี่มอเตอร์ไซค์ ฉันอยากให้พวกเขาได้สัมผัสประสบการณ์อันยอดเยี่ยม เมื่อได้ควบรถสองล้อนี้”
นอกจากนี้ เธอเชื่อว่าเธอไม่ได้แค่เรียกร้องสิทธิ์ให้กับหญิงชาวอิหร่าน แต่ยังช่วยให้ผู้หญิงทั่วโลกกล้าที่จะออกมาทำสิ่งที่ตนอยากทำอีกด้วย โดยไม่ให้เพศสภาพเป็นอุปสรรคต่อเป้าหมาย
“ข้อความที่ฉันอยากส่งออกไปคือ ผู้หญิงคนไหน ไม่ว่าจะเป็นชาวอิหร่านหรือไม่ใช่ก็ตาม กำลังคิดว่าคุณไม่สามารถทำอะไรได้เลย คุณแค่ต้องหลับตาลงและบอกกับตัวเองว่า ‘ฉันทำได้ หากฉันอยากทำ’ แล้วเธอก็จะทำได้อย่างแน่นอน”
ที่มา: bbc, advpulse, cntraveller