รู้หรือไม่ “รถยนต์ไฟฟ้า” ไม่ใช่นวัตกรรมใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว?
และรู้หรือไม่ว่าเมื่อ 126 ปีที่แล้ว เคยมีรถแท็กซี่ไฟฟ้า เอาชนะรถยนต์ที่ใช้น้ำมัน ได้มาวิ่งให้บริการในเมืองเจริญอันดับต้นๆ อย่างนิวยอร์กด้วย?
หากคุณยังไม่รู้ MagCarZine.com จะพาไปหาคำตอบในบทความนี้กันครับ…
กำเนิดโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแห่งแรกของสหรัฐ
แนวคิดของการสร้างรถยนต์ไฟฟ้า เกิดขึ้นมาก่อนที่ Karl Benz จะสร้างรถเครื่องยนต์สันดาปในปี 1885 เสียอีก
ในช่วงนั้น แหล่งพลังงานที่ใช้ขับเคลื่อนเครื่องจักรมีอยู่หลักๆ 3 แห่งด้วยกันคือ ไอน้ำ น้ำมัน และไฟฟ้า ซึ่งต่างก็ขับเคี่ยวกันเพื่อเป็นพลังงงานหลักของอุตสาหกรรม
ในวันที่ 26 พฤษภาคม 1881 Gustave Trouvé นักประดิษฐ์ชาวฝรั่งเศส ได้นำรถยนต์ไฟฟ้าต้นแบบออกมาวิ่งทดสอบบนถนน
และมันได้กลายเป็นรถยนต์ไฟฟ้าคันแรกของโลก
จนกระทั่งเดือนสิงหาคมปี 1894 นับสิบปีหลังจากรถไฟฟ้าต้นแบบในฝรั่งเศส พาหนะดังกล่าวก็ได้ข้ามไปยังดินแดนทางตะวันตก แล้วชาวอเมริกันก็ได้รู้จักมันในที่สุด
และนี่คือสิ่งที่พวกเขาเรียกมันว่า “รถแท็กซี่ไฟฟ้า” ในยุคนั้นครับ..

Pedro Salom นักเคมีชาวอเมริกันเชื้อสายสเปน และ Henry G. Morris เพื่อนนักประดิษฐ์ของเขาได้ใช้เวลากว่า 2 เดือนเพื่อสร้างรถยนต์ต้นแบบของพวกเขา ก่อนจะนำไปวิ่งทดสอบที่ถนนในเมืองฟิลาเดลเฟีย
รถต้นแบบของ Pedro และ Henry สร้างความตื่นเต้นให้กับชาวเมืองอย่างมาก เพราะมันสามารถเคลื่อนที่ได้เองโดยที่ไม่ต้องใช้ม้าหรือลาลาก เหมือนรถทั่วๆ ไปที่พวกเขาเคยเห็นในสมัยนั้น
และที่สำคัญมันยังขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า โดยรับพลังงานจากแบตเตอรี่ชนิดตะกั่ว-กรดที่อยู่ด้านใต้ตัวรถ
Pedro และ Henry ตั้งชื่อให้รถต้นแบบคันแรกของพวกเขาว่า Electrobat ซึ่งเมื่อรวมแบตเตอรี่ขนาดใหญ่ที่หนักกว่า 725 กิโลกรัมเข้าไปด้วย ทำให้รถยนต์ไฟฟ้าคันนี้หนักเกือบ 2 ตัน
ทั้งสองใช้เวลาหลายเดือนในการพัฒนารถยนต์ไฟฟ้า พวกเขาวิ่งทดสอบมันเป็นระยะทางหลายร้อยกิโลเมตร ก่อนจะผลิตรถในเวอร์ชั่นที่ดีกว่าออกมา และตั้งชื่อให้มันใหม่โดยเติมเลข 2 ต่อท้าย
สิ่งที่ Electrobat 2 แตกต่างไปจากรุ่นก่อนหน้าอย่างเห็นได้ชัดก็คือ นำหนักตัวที่ลดลงไปกว่าครึ่ง ส่วนน้ำหนักแบตเตอรี่ก็ลดลงราวๆ 200 กิโลกรัม
Electrobat 2 ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าที่มีพละกำลัง 1.5 แรงม้า มันสามารถทำความเร็วสูงสุดได้ที่ 32 กิโลเมตร/ชั่วโมง และแบตเตอรี่สามารถทำระยะทางสูงสุดได้ราวๆ 40 กิโลเมตรด้วยกัน
แม้สเปครถยนต์ไฟฟ้าของ Pedro และ Henry จะสู้มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าสมัยนี้ไม่ได้
แต่เมื่อประมาณ 120 ปีที่แล้วมันคือเรื่องที่น่าตื่นเต้นมาก และแน่นอนนั่นคือการเปิดประสบการณ์ใหม่ ที่ทำให้คนอเมริกันรู้จักรถยนต์ไฟฟ้า…

อย่างที่เล่าไปตอนต้น ในศตวรรษที่ 19 เป็นการแข่งขันกันระหว่าง 3 เชื้อเพลิงหลักที่ใช้ในยานพาหนะ คือไอน้ำ น้ำมัน และไฟฟ้า
ซึ่งในยกนี้ดูเหมือนว่าไฟฟ้าจะตอบโจทย์การใช้งานได้มากกว่า และขึ้นมาเป็นอันดับ 1 เหนือเชื้อเพลิงทั้ง 2
จากจุดเริ่มต้นเล็กๆ ในเมืองฟิลาเดลเฟีย Pedro และ Henry ฝันที่จะเห็นรถยนต์ไฟฟ้าของพวกเขาเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของระบบขนส่งสาธารณะของประเทศด้วย
ปี 1897 สองจึงตัดสินใจตั้งบริษัทรถแท็กซี่ไฟฟ้า Morris & Salom Electric Carriage and Wagon Company (E.C.W.C) ที่นิวยอร์ก
โรงงานของ E.C.W.C ถูกยกให้เป็นโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแห่งแรก และที่นี่พวกเขาก็ได้เริ่มต้นความฝัน ที่จะทำให้รถยนต์ไฟฟ้าเป็นส่วนหนึ่งของระบบขนส่งมวลชน

ปลายศตวรรษที่ 19 ยุคของรถแท็กซี่ไฟฟ้า
E.C.W.C เริ่มต้นได้สวยที่นิวยอร์ก พวกเขาเริ่มเปิดให้บริการแท็กซี่ไฟฟ้าที่แรกในเกาะแมนแฮตตัน
ในปีแรกของการเปิดให้บริการ Electrobat รับส่งผู้โดยสารไปมากกว่า 1,000 คน และมันทำระยะทางรวมกันมากกว่า 3,000 กิโลเมตรด้วยกัน
ในยุคที่การชาร์จไฟยังไม่รองรับการใช้งานเท่าที่ควร และสถานีแรงสูงยังมาไม่ถึง หลายคนอาจสงสัยว่า E.C.W.C ใช้วิธีไหนในการอัดประจุให้กับรถยนต์ไฟฟ้าของพวกเขา??
บริษัทรถแท็กซี่แห่งนิวยอร์กใช้วิธี “เปลี่ยนแบตเตอรี่ทั้งก้อน” แทนการอัดประจุใหม่ ซึ่งพวกเขาพัฒนามาจากการเปลี่ยนแบตเตอรี่ของรถรางในสมัยนั้น แต่ทำให้มันรวดเร็วยิ่งขึ้น
Electrobat จะวางตำแหน่งของแบตเตอรี่ไว้ที่ช่องด้านล่างคนขับ เมื่อแบตเตอรี่อันเดิมหมด คนขับจะนำรถเข้ามาที่สถานี และชุดเครนไฮโดรลิคจะรับหน้าที่ในการถอดเปลี่ยนแบตเตอรี่น้ำหนักหลายร้อยกิโลกรัม

ธุรกิจรถแท็กซี่ไฟฟ้าของ E.C.W.C รุ่งเรืองมากๆ จนกระทั่งปี 1899 กลุ่มนายทุนจากนิวยอร์กได้เสนอเงินก้อนโตที่ยากจะปฏิเสธ เพื่อเข้ามาบริหารกิจการแท็กซี่ไฟฟ้าต่อ
จากนิวยอร์ก รถแท็กซี่ไฟฟ้าก็กระจายไปยังหลายเมืองในหลายๆ รัฐ ทั้งที่ ฟิลาเดลเฟีย, ชิคาโก, วอชิงตัน ดี.ซี. และบอสตัน
ซึ่งตั้งแต่ปี 1897-1899 มีรถแท็กซี่ไฟฟ้าจากบริษัทนี้ ถูกผลิตออกมามาหลายร้อยคันด้วยกัน
และหลังการเข้ามาดูแลโดยกลุ่มนายทุนจากนิวยอร์ก โรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าของพวกเขา ได้กลายเป็นโรงงานผลิตรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

จนถึงตรงนี้ หลายคนอาจสงสัยว่าแล้วรถยนต์น้ำมันหายไปไหน??
ใจเย็นๆ ก่อนที่จะเพิ่งโวย เพราะย่อหน้าต่อไปพวกเขากำลังจะมาแล้ว แถมยังมาพร้อมกับการล่มสลายของแท็กซี่ไฟฟ้าด้วย…
งานเลี้ยงย่อมมีวันเลิกรา เมื่อช่วงขาลงมาถึง
เพียงปีเดียวที่ก้าวขึ้นเป็นโรงงานผลิตรถยนต์ขนาดใหญ่ E.C.W.C พวกเขาเจอกับคู่แข่งใหม่ที่ชื่อ Oldsmobile
คู่แข่งนี้คือผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ ที่มาพร้อมเทคโนโลยีใหม่ ซึ่งทำให้พวกเขาสามารถผลิตรถได้ครั้งละมากๆ ได้
ปี 1901 เป็นปีแรกที่ Oldsmobile เริ่มผลิตรถเครื่องยนต์สันดาปออกจำหน่าย โดยในปีนั้นพวกเขาผลิตรถออกมามากถึง 425 คัน
ในปีเดียวกับที่ Oldsmobile เข้ามาพร้อมกับการพัฒนารถเครื่องยนต์สันดาปให้ใช้งานได้ดียิ่งขึ้นเรื่อยๆ กิจการที่กำลังรุ่งเรืองของ E.C.W.C ก็เริ่มสะดุด สาขาที่เปิดอยู่ในหลายๆ เมื่อเรื่องประสบปัญหาทางด้านการบริหาร
ซึ่งทำให้เงินที่ทำได้จากสาขานิวยอร์ก ต้องกระจายไปช่วยเหลือในพื้นที่อื่นๆ ด้วย

ปัญหาใหญ่ที่ E.C.W.C เจอคือ การจัดการกับแบตเตอรี่ของพวกเขา ที่มาจากปัญหาเรื่องเทคโนโลยีหลายๆ อย่างที่ไม่เอื้ออำนวยในขณะนั้น ประกอบกับคนขับที่ไม่มีความเข้าใจการทำงานของรถที่มากพอ
และไม่เพียงเท่านั้นเรื่องความปลอดภัยของการผลิต ก็เป็นอีกเหตุผลที่ทำให้รถยนต์ไฟฟ้าของ E.C.W.C ถูกตั้งคำถามด้วย
นอกจากปัญหาภายใน E.C.W.C ยังต้องเจอกับปัญหาการฟ้องร้องเรื่องสิทธิบัตร รวมถึงประเด็นข้อกฎหมายที่ว่าพวกเขาพยายามจะผูกขาดการผลิตรถยนต์
แถมยังต้องแข่งกับเครื่องยนต์สันดาป ที่เริ่มพัฒนาให้ใช้ได้ดีขึ้นกว่ารถต้นแบบเมื่อหลายสิบปีก่อน และตอบโจทย์การใช้งานมากกว่า
จนในที่สุด พวกเขาก็ต้องล้มละลายไปในปี 1912 ปิดฉากผลิตแท็กซี่ไฟฟ้ารายแรกของสหรัฐไปอย่างรวดเร็วในเวลาเพียง 15 ปี

จากจุดเริ่มต้นจนถึงการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ทำให้เราได้เห็นว่า องค์ประกอบหลายๆ อย่างทำให้รถยนต์ไฟฟ้าไม่สามารถไปต่อได้อย่างน่าเสียดาย
แต่ในปัจจุบัน อย่างที่เราได้เห็นค่ายรถรายใหญ่หลายค่ายพยายามนำเสนอรถยนต์ไฟฟ้าในหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น ไฮบริด ปลั๊กอินไฮบริด หรือแม้กระทั่งรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ (BEV) ออกมามากมาย
แม้ในยุคนั้น รถยนต์ไฟฟ้าจะไม่สามารถสู้กับรถยนต์น้ำมันได้ และต้องหายไปในที่สุด
แต่ในอนาคตอันใกล้ หลายคนกลับมองว่าโลกกำลังมุ่งเข้าสู่ยุคยานยนต์ไฟฟ้า และคราวนี้ รถยนต์น้ำมันจะเป็นสิ่งที่หายไปแทน
น่าสนใจไม่น้อยว่า คำกล่าวนั้นจะเป็นจริงหรือไม่? และจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในวงการยานยนต์ได้อีกครั้งจริงหรือ?
คุณคิดอย่างไรกันบ้างครับ…?
ที่มา The Electric Car in America, theatlantic, caranddriver