การจะเลือกซื้อรถสักคัน นอกจากเรื่องความสวยงาม หรือประสิทธิภาพรถแล้ว…
อีกปัจจัยหนึ่งที่คนให้สำคัญมากก็คงหนีไม่พ้นเรื่อง “ความปลอดภัย”
แล้วคุณผู้ชมรู้ไหมครับ ว่ารถที่ถูกยกให้มีความปลอดภัยมากที่สุดจากหน่วยงานทางหลวงสหรัฐฯ หรือ NHTSA คือ Tesla Model 3 !
สงสัยกันไหมครับว่าอะไรที่ทำให้รถยนต์ไฟฟ้าคันนี้แตกต่างจากรถยนต์ทั่วไป วันนี้เราจะพาไปหาคำตอบกันครับ…
ก่อนอื่นเราจะพาไปรู้จักกับองค์กรที่ทำหน้าที่ทดสอบความปลอดภัยของรถกันก่อนนะครับ
องค์กรที่ทำหน้าที่ทดสอบความปลอดภัย มีอยู่หลักๆ 2 เจ้า
องค์กรแรกคือ National Highway Traffic Safety Administration หรือเรียกย่อๆ ว่า NHTSA
ซึ่งเป็นองค์กรรัฐของสหรัฐอเมริกา ที่ได้ก่อตั้งการทดสอบที่ชือว่า NCAP ขึ้นมา
ส่วนองค์กรที่สองคือ Insurance Institute for Highway Safety เรียกย่อๆ ว่า IIHS
เป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร ที่ก่อตั้งขึ้นจากเงินทุนของบริษัทประกันหลายบริษัทในสหรัฐฯ
ทั้งสองบริษัทนั้นจะมีเกณฑ์การทดสอบที่กำหนดขึ้นมา เพื่อหาว่ารถที่ขายในปัจจุบัน มีความปลอดภัยมากแค่ไหน
เมื่อทดสอบเสร็จแล้ว ก็จะมีการตัดเกรดให้คะแนน ตามเกณฑ์ที่ตั้งเอาไว้ และนำมาเผยแพร่ให้คนทั่วได้รับรู้
การทดสอบของทั้ง 2 องค์กรจะแตกต่างกันเล็กน้อย แต่หลักๆ จะแยกออกมาได้เป็นสองหัวข้อใหญ่ๆ
ซึ่งก็คือ Active Safety และ Passive Safety
Active Safety คือความปลอดภัยขั้นต้น หรือก็คือสิ่งที่สามารถช่วยหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดอุบัติเหตุขึ้นได้
เช่น ระบบช่วยเบรก หรือ ระบบแจ้งเตือนต่าง เป็นต้น
ส่วน Passive Safety คือความปลอดภัยขั้นที่สอง หรือก็คือสิ่งที่สร้างความปลอดภัยให้เราเมื่อมีอุบัติเหตุเกิดขึ้น
เช่น ถุงลม หรือ โครงสร้างความแข็งแกร่งของตัวถังรถ เป็นต้น
ถึงตรงนี้ก็มาเข้าเรื่องกันเลยครับ ว่า Tesla Model 3 ทำไมถึงถูกยกให้เป็นรถที่มีความปลอดภัยมากที่สุดกันครับ
NHTSA เคยจัดอันดับรถที่ทำการทดสอบมาตั้งแต่ปี 2011 ผลปรากฎว่า Tesla Model 3 คือรถที่มีโอกาสบาดเจ็บน้อยที่สุดหากเกิดอุบัติเหตุ
ซึ่งอันดับ 2 และ 3 ที่ตามมานั้นก็คือ Model S และ Model X ของ Tesla เช่นกันครับ
ส่วนการทดสอบของ IIHS Tesla Model 3 ก็ได้คะแนนเต็ม และถูกเลือกเป็น Top Safety Pick+ ด้วยเช่นกัน
ความยอดเยี่ยมด้านความปลอดภัยของ Tesla Model 3 ได้เกิดขึ้นจาก 3 ปัจจัยหลักๆ ดังนี้ครับ
ข้อ 1 การไม่มีเครื่องยนต์
ปกติแล้วด้านหน้าและด้านท้ายของรถยนต์ จะเป็นจุดที่เอาไว้รับแรงกระแทก เมื่อเกิดอุบัติเหตุ ในภาษาอังกฤษเราเรียกว่า Crumple Zone
ซึ่งในรถยนต์ปกติเนี่ย เขาต้องแบ่ง Crumple Zone ด้านหน้าเอาไว้เพื่อใส่เครื่องยนต์ในฝากระโปรงหน้า
กลับกัน ในฝากระโปรงหน้าของรถยนต์ไฟฟ้ามันไม่มีเครื่องยนต์ครับ เป็นช่องว่าง ที่เอาไว้ใส่ของได้
นั่นทำให้รถยนต์ไฟฟ้ามี Crumple Zone ที่ที่มากขึ้น และสามารถดูดซับแรงกระแทกได้มากกว่ารถยนต์นั่นเอง
หลักการเดียวกันนี้เกิดขึ้นในด้านท้ายเช่นกัน เพราะปกติแล้วจะเป็นจุดที่ถังน้ำมันติดตั้งอยู่
การไม่มีถังน้ำมัน ก็ทำให้ด้านท้ายมีพื้นที่ว่างเปล่าของรถมีมากขึ้น เป็น Crumple Zone ขนาดใหญ่ ที่มีการซับแรงกระแทกได้ดีนั่นเองครับ
ข้อ 2 โครงสร้างและวัสดุตัวถังของ Model 3
เสา A และเสา B ของ Tesla Model 3 นั้นถูกออกแบบมาให้หนาและแข็งแรง
บวกกับ หลังคาที่ เป็นแบบกระจกแบบสองชิ้นโดยมีวัสดุโพลียูริเทนแทรกอยู่ตรงกลาง ซึ่งมีความแข็งแรงมาก
ซึ่งจะแข็งแรงแค่ไหน เราลองมาดูการทดสอบความแข็งแกร่งที่ทดสอบโดย IIHS กันครับ
Tesla Model 3 ได้ผลคะแนน ความแข็งแกร่ง-ต่อน้ำหนัก (Strength-to-weight ratio) ออกมา ที่ 5.85 คะแนน
เป็นคะแนนที่เทียบเท่ากับรถกระบะคันโตอย่าง Ford F-150 เลยทีเดียวครับ
ขณะที่รถเก๋งในกลุ่มเดียวกันได้คะแนนต่ำกว่าดังนี้
Honda Accord ได้ 5.51
Toyota Camry ได้ 5.67
Bmw 3 Series ได้ 5.73
และ Volvo S3 ได้ 5.73 เท่ากับ BMW
นอกจากนี้แล้ว การใช้หลังคาแบบกระจก ยังสามารถซับแรงกระแทกได้มากกว่าหลังคาแบบปกติ
เคยมี Model 3 คันหนึ่งที่ชนเข้ากับเสาไฟฟ้าจนเสาหักลงมาใส่หลังคารถ แต่หลังคากระจกกลับไม่เป็นอะไรเลยครับ
และถ้าถูกชนจากด้านข้าง แรงกระแทกจะกระจายอยู่กระจกทั้งแผ่น ไม่ได้ซับแต่ตรงจุดที่ชนเหมือนกับหลังคาปกติ
แต่ก็ต้องแลกด้วยการที่กระจกจะแตกและต้องเปลี่ยนใหม่ทั้งแผ่นซึ่งมีราคาสูงครับ
ข้อ 3 การมีแบตเตอรี่ติดตั้งอยู่ใต้ท้องรถ
ข้อนี้ไม่ใช่แค่ Tesla Model 3 เท่านั้น แต่โครงสร้างรถยนต์ไฟฟ้าทุกรุ่น จะติดตั้งแบตเตอรี่อยู่บริเวณใต้ท้องรถ
มีการเผยว่า ใน Tesla รุ่นมอเตอร์คู่นั้น แค่มอเตอร์กับแบตเตอรี่เฉยๆ ก็มีน้ำหนักถึง 600 กิโลกรัมเข้าไปแล้ว
เป็นผลทำให้รถมีจุดศูนย์ถ่วงที่ต่ำมาก
ดังนั้นจึงเป็นเหตุผลที่ว่า Tesla และรถยนต์ไฟฟ้าแทบทุกคัน ยากที่จะพลิกคว่ำได้ง่ายๆ
เหมือนอย่างที่เราเห็นกันในคลิปนี้นะครับ
ที่ในการทดสอบ ได้เอา Model X ซึ่งเป็นรถที่มีขนาดใหญ่ที่สุดและหนักมากที่สุดของค่าย มาทดสอบ
ซึ่งจะเห็นว่าไม่ว่ารถจะถูกชนแรงขนาดไหน ก็จะพลิกกลับมาเหมือนเดิม
.
และข้อสุดท้าย ระบบ Tesla Autopilot
3 ข้อด้านบนเราได้พูดถึง Passive Safety ไปแล้วนะครับ ในข้อนี้ก็มาถึง Active Safety ของ Tesla Model 3 กันบ้าง
ปัจจุบันหากคุณซื้อรถยนต์ตัวท็อป มันก็จะมีระบบความปลอดภัยที่เป็น Active Safety มาให้หลายอย่าง ซึ่งใน Model 3 ก็มีมาให้เช่นกัน
แต่สิ่งที่ทำให้รถ Tesla เหนือกว่าคู่แข่ง คือระบบ Autopilot
ปกติแล้ว Autopilot คือโหมดที่เราสามารถเลือกเปิดได้ เพื่อให้รถขับขี่ไปได้ด้วยตัวเองใช่ไหมครับ
แต่ถึงแม้ว่าเราจะไม่ได้เปิด ระบบ Autopilot ก็จะยังทำงานประมวลผลเหตุการณ์รอบๆ อยู่ตลอดเวลา
และเมื่อเห็นท่าไม่ดี มีแนวโน้มที่รถของเรามีอันตราย หรืออาจจะเห็นว่าข้างหน้าเกิดชนกันขึ้น
มันก็จะเข้ามาช่วยเบรก ช่วยควบคุมพวงมาลัย หรือ ช่วยควบคุมคันเร่ง เพื่อให้พ้นอันตรายนั้นๆ
ซึ่งบางครั้ง ระบบได้แจ้งเตือนอันตรายก่อนที่เหตุการณ์จะเกิดขึ้นอีกครับ เราลองมาดูคลิปเหตุการณ์จริงกันครับ
ถึงตรงนี้แล้ว หลายคนจะต้องหาว่าเราอวยอย่างเดียวแน่นอน หากไม่พูดถึงเคสที่ Tesla เกิดไฟลุกหรือระเบิดอย่างไม่ทราบสาเหตุ
แน่นอนว่าถึงแม้ผลการทดสอบในห้องแล็บจะออกมาดียังไง แต่ถ้าเราต้องขับรถที่ไม่รู้ว่ามันจะเกิดระเบิดขึ้นเมื่อไหร่ ถึงรถดีแค่ไหนก็ไม่มีใครซื้อใช่ไหมครับ
ซึ่งเรื่องนี้ก็เป็นประเด็นมาอย่างยาวนาน จนถึงขั้นที่ในปีที่แล้ว Elon Musk ซีอีโอของ Tesla ได้ออกมาบ่นผ่านทวิตเตอร์ว่า
“มีรถยนต์น้ำมันระเบิดขึ้นทำให้คนตายมากกว่าพันคนต่อปี แต่พอมีข่าวว่า Tesla ระเบิดขึ้นมาคันเดียว สื่อกลับเอามาพาดหัวใหญ่โต”
ทั้งนี้เขายังยืนยันว่ารถยนต์ไฟฟ้าทุกยี่ห้อมีโอกาสไฟลุกน้อยกว่ารถน้ำถึง 500% และยังย้ำว่ารถยนต์นั้นพกพาน้ำมันที่เป็นสารจุดไฟไว้กับตัวตลอด ทำไมไม่มีใครเคยยกมาเป็นประเด็นบ้าง
นอกจากนี้สื่อใหญ่อย่าง Business Insider ยังเคยเอาสถิติมากางให้ดูนะครับว่า
ตั้งแต่ปี 2013 ถึง 2019 มีรถ Tesla ทั่วโลกเกิดติดไฟอยู่ที่ 20 คัน
ในขณะที่ ฝั่งรถน้ำมัน เคยมีผลสถิติออกมาว่า นับเฉพาะรถที่วิ่งบนทางหลวงสหรัฐฯ ปี 2014-2016
มีเคสอุบัติเหตุรถติดไฟอยู่ที่ 171,500 ครั้ง เฉลี่ย 157 เคสต่อวันเลยทีเดียว
ซึ่งในความคิดเห็นของพวกเรา คิดว่าจริงๆ ไม่สมควรจะมีรถที่เกิดไฟลุกขึ้นมาไม่ว่าจะรถไฟฟ้าหรือรถน้ำมัน แต่ถ้ามันเกิดขึ้นมาแล้วเราก็ต้องดูข้อเท็จจริงจากทั้งสองฝั่ง
ซึ่งประเด็นนี้เป็นอะไรที่ค่อนข้างจะละเอียดอ่อน ถ้าให้พูดก็คงมีการถกเถียงกันยาวแน่นอน
ดังนั้นหากคุณผู้ชมมีความคิดเห็นอย่างไรกับเรื่องนี้ก็ลองคอมเมนต์แลกเปลี่ยนความคิดเห็นให้เรารู้ได้เลยครับ
และนี่ก็เป็นเหตุผลที่ทำไม Tesla Model 3 ถึงถูกยกให้เป็นรถที่มีความปลอดภัยมากที่สุดจาก NHTSA
แต่น่าเสียดายนะครับที่ปัจจุบัน Tesla ยังไม่ได้เข้ามาทำตลาดขายรถในไทยอย่างจริงจัง
ทำให้จากราคาขายในต่างประเทศราวๆ 1.2 ถึง 2 ล้านบาท เพิ่มขึ้นมาเป็นราว 2.9 ถึง 3.5 ล้านบาทในประเทศไทย จากตัวแทนนำเข้าอิสระ
คุณผู้ชมคิดว่า ในอนาคต Elon Musk จะนำ Tesla มาเปิดตลาดในบ้านเราด้วยตัวเองหรือไม่ คิดอย่างไรกันครับ?
ที่มา : iihs, nhtsa, tesla, businessinsider