หลายคนน่าจะรู้กันดีว่าในประเทศไทย มีการสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์ โดยเปิดให้แบรนด์ต่างชาติเข้ามาลงทุน เพื่อผลิตรถขายในประเทศและส่งออก
เมื่อสนับสนุนการผลิตในประเทศ ทำให้มีการตั้งกำแพงภาษีขึ้นมาเพื่อกีดกันรถยนต์นำเข้า ไม่ให้สามารถเข้ามาทำตลาดแข่งกับรถที่ผลิตในประเทศได้ง่ายๆ มิฉะนั้นจะกระทบกับเศรษฐกิจภายในประเทศได้
จึงเป็นเหตุว่าทำไมรถยนต์ที่ถูกนำเข้ามาขาย ถึงมีราคาสูงกว่าที่ขายในต่างประเทศ 2-3 เท่า
ยกตัวอย่างเช่น
– Ford Mustang รุ่น 2.3 EcoBoost ที่ศูนย์ไทยนำเข้ามาจากอเมริกา โดยรถรุ่นนี้มีราคาเริ่มที่อเมริการาว 840,000 บาท ส่วนไทยมีราคาที่สูงขึ้นมาถึง 3,699,000 บาท
– Nissan Leaf รถยนต์ไฟฟ้าที่ศูนย์ไทยนำเข้าจากญี่ปุ่น มีราคาเริ่มต้นที่ญี่ปุ่นราว 980,000 บาท แต่ที่ไทยตั้งราคาไว้ที่ 1,990,000 บาท
ซึ่งการที่มีกำแพงภาษีนี้ เราได้ระบุไปข้างต้นแล้วว่ามันคือการป้องกันเศรษฐกิจภายในประเทศ
แต่เชื่อว่าหลายคนยังไม่รู้ว่าทำไมต้องตั้งขึ้นมา ตั้งขึ้นมาเมื่อไหร่ และใครคือผู้ริเริ่ม
ซึ่งวันนี้ เราจะพาไปสรุปย้อนความหลังกันครับ…
ก่อนอื่น มีคำศัพท์เฉพาะที่ใช้ในบทความดังนี้ :
CBU (Completely Built-up) = รถที่ประกอบขึ้นที่ต่างประเทศทั้งคันและนำเข้ามาขายในไทย
CKD (Completely Knocked-Down) = รถที่แยกชิ้นส่วน ก่อนจะนำเข้ามาประกอบและขายในไทย
C.I.F (Cost, Insurance, and Freight) = ค่าต้นทุน+ค่าประกัน+ค่าขนส่งของรถที่นำเข้ามาก่อนจะโดนบวกภาษี
1. ยุคส่งเสริมการลงทุนการประกอบรถยนต์ในประเทศ
ปี 2500 – 2503
อันที่จริง รถยนต์นั้นเริ่มเข้าในไทยตั้งแต่ก่อนปี พ.ศ.2443 แล้ว แต่ยังไม่แพร่หลายเพราะมีราคาสูง มีเฉพาะนักเรียนนอก และชนชั้นสูงที่สามารถเป็นเจ้าของรถยนต์ได้
ต่อมาหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จบ รถยนต์เริ่มเป็นที่นิยมและแพร่หลายในหมู่คนทั่วไปมากขึ้น
แต่ ณ เวลานั้นไทยยังไม่มีอุตสาหกรรมผลิตรถยนต์ในประเทศ รถที่ขายอยู่ทั่วไปจึงเป็นรถนำเข้า CBU
ต่อมารัฐบาลที่นำโดยจอมพลสฤษดิ์ ต้องการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ และมองเห็นว่าไทยควรเป็นแหล่งผลิตรถเพื่อขายในประเทศและส่งออกไปต่างประเทศ
จึงมีการออก พรบ.ส่งเสริมการลงทุน ขึ้นมาในปี 2503 ออกสิทธิประโยชน์ต่างๆ ให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาตั้งโรงงานผลิตรถในไทยอย่างจริงจัง
มี 3 บริษัทที่สนใจลงทุนในไทยได้แก่
บ.แองโกลไทยมอเตอร์ (ตัวแทนจำหน่ายฟอร์ด)
บ.ธนบุรีพานิช (ตัวแทนจำหน่ายเมอร์เซเดส เบนซ์)
และ บ.กรรณสูตร (ตัวแทนจำหน่ายเฟียต)
ที่ได้ยื่นขอใบอนุญาตประกอบรถยนต์ในประเภท โดยเป็นการนำเข้าชิ้นส่วนมาประกอบในไทยแบบ CKD

ปี 2505
ได้มีการประกาศใช้ พรบ.ส่งเสริมการลงทุนอย่างเป็นทางการ และเริ่มมีการเก็บภาษีรถนำเข้า เพื่อป้องกันไม่ให้นำเข้ามาขายแข่งกับบริษัทที่เข้ามาลงทุนในประเทศ
โดยกรเก็บภาษีมีรายละเอียดดังนี้
รถนำเข้าทั้งคัน CBU
– อากรขาเข้า 60% ของราคา C.I.F.
– ภาษีการค้า 30% ของราคา C.I.F.
รถนำเข้ามาประกอบ CKD
– อากรขาเข้า 30% ของราคา C.I.F.
– ภาษีการค้า 30% ของราคา C.I.F.
การประกาศใช้ พรบ. ส่งเสริมการลงทุน นี้ได้ทำให้มีอีกหลายบริษัทโดยเฉพาะจากญี่ปุ่นเริ่มเข้ามามีบทบาทในไทยมากขึ้นในช่วงนี้
ซึ่งบริษัทที่ว่านั้นก็มี บ.สยามกลการและนิสสันจำกัด ได้เริ่มเปิดโรงงานในปี 2505
ต่อมาในปี 2508 ก็เป็นโตโยต้า และปริ๊นมอเตอร์ประเทศไทย ที่เข้ามาเปิดโรงงานประกอบ
เพียงแค่ 10 ปีแรกที่เปิดใช้งาน พรบ. ดังกล่าว ก็มีบริษัทรถเข้ามาผลิตมากถึง 11 แห่ง
ผลที่ได้นั้นในนั้นทำให้รถยนต์ในประเทศไทยขายได้มากขึ้น จาก 3,934 คันในปี พ.ศ. 2504
เพิ่มขึ้นมาเป็น 71,120 คันในปี พ.ศ. 2512 หรือเพิ่มขึ้นราว 18 เท่า!!
แต่ถึงอย่างนั้น ในช่วงเวลา 10 ปีที่มีการส่งเสริมการลงทุน คนไทยก็ยังนิยมใช้รถนำเข้า CBU กันเหมือนเดิม
ถึงแม้จะขายรถได้เยอะขึ้นแต่อัตราส่วนระหว่างรถ CBU กับ CKU นั้นอยู่ที่ 75:25 นั่นทำให้ไทยสูญเสียเงินตราต่างประเทศไปจำนวนมาก และขาดดุลการค้าอย่างรุนแรง


2. ยุคบังคับใช้ชิ้นส่วนภายในประเทศ
ปี 2514
เมื่อวิธีเดิมไม่ได้ผล ไทยจึงต้องหาวิธีให้อุตสาหกรรมรถยนต์ไทยเกิดขึ้นให้ได้ จึงมีการปรึกษาให้ผู้เชี่ยวชาญเข้ามาวางระบบ
ทำให้เกิดข้อกำหนดให้บริษัทประกอบรถในไทย ต้องใช้ชิ้นส่วนภายในประเทศ 25% ในการประกอบรถ
รวมถึงกำหนดให้โรงงานที่ประกอบรถยนต์ จะต้องมีกำลังการผลิตได้ไม่ต่ำกว่า 30 คันต่อวัน ภายในเวลาทำงาน 8 ชั่วโมง เพื่อให้ราคาของรถประกอบในประเทศถูกลงกว่ารถนำเข้า CBU มากขึ้น
นอกจากนั้น ยังมีการเก็บภาษีรถนำเข้า CBU เพิ่มขึ้น
– อากรขาเข้าเพิ่มจาก 30% เป็น 80% ของราคา C.I.F.
– ภาษีการค้า 30% เท่าเดิม
ปี 2517
รัฐบาลเริ่มส่งเสริมการผลิตชิ้นส่วน โดยปี 2517 ได้มี 8 โรงงานที่ได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุนในการผลิตชิ้นส่วนในประเทศ
ปี 2521
ไทยยังไม่สามารถทำให้อุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศบูมขึ้นมาได้ และยังต้องเจอกับปัญงบขาดดุลต่อเนื่อง จนเริ่มรุนแรงขึ้นในปี 2516-2520
ทำให้ในปี 2521 รัฐตัดสินใจใช้ยาแรงประกาศนโยบาย เพิ่มอากรขาเข้าจาก 80% เป็น 150%

3. ยุคปรับโครงสร้าง
ปี 2528
อนุญาตให้กลับมานำเข้ารถยนต์ CBU ได้เหมือนเดิม แต่มีข้อแม้ว่า นำเข้าได้เฉพาะรถ 2,300 ซีซี ซึ่งรายละเอียดการเก็บภาษี
รถนำเข้า CBU 2,300 ซีซีขึ้นไป
– อากรขาเข้าเพิ่มขึ้นจาก 150% เป็น 200% ของราคา C.I.F.
– เก็บอากรพิเศษเพิ่มอีก 50% จากค่าอากรขาเข้า
รถนำเข้ามาประกอบ CKD
– อากรขาเข้าเพิ่มจาก 80% เป็น 120% ของราคา C.I.F.
– เก็บอากรพิเศษเพิ่มอีก 40% จากค่าอากรขาเข้า
ปี 2530
ในปีนั้น รัฐบาลต้องการให้บริษัทข้ามชาติเข้ามาตั้งโรงงานผลิตอะไหล่รถมากขึ้น และให้ค่ายรถประกอบรถโดยใช้อะไหล่ที่ผลิตในประเทศ 100%
แต่สุดท้ายก็มีข้อโต้แย้ง กันจนตกลงกันได้ที่สัดส่วนอะไหล่ผลิตในประเทศ 45%
ปี 2534
– การนำเข้ารถ CBU ทำได้เสรีอีกครั้ง (จากเดิมที่นำเข้าได้เฉพาะเครื่อง 2.3 ขึ้นไป) เพราะรถยนต์ผลิตในประเทศเริ่มผลิตไม่ทันความต้องการ และเพื่อให้มีการแข่งขันภายในประเทศมากขึ้น
โดยรายละเอียดของการเก็บภาษีมีดังนี้
รถนำเข้า CBU
– ไม่เกิน 2,300 ซีซี จาก 180% เหลือ 60% ของราคา C.I.F.
– เกิน 2,300 ซีซี จาก 300% เหลือ 100% ของราคา C.I.F.
รถนำเข้ามาประกอบ CKD
– ไม่เกิน 2,300 ซีซี จาก 112% เหลือ 20% ของราคา C.I.F.
– เกิน 2,300 ซีซี จาก 112% เหลือ 20% ของราคา C.I.F.
ปี 2535
รัฐบาลได้เปลี่ยนระบบการเก็บภาษีใหม่ โดยมีรายละเอียดดังนี้
– เปลี่ยนจากภาษีการค้าที่เก็บ 30% มาเป็นภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ในตอนนั้นเริ่มเก็บที่ 10%
– มีการเพิ่มภาษีสรรพาสามิตเข้ามา
– รถนำเข้า CBU เกิน 2,400 ซีซี ปรับอากรขาเข้าเป็น 68.5% ของราคา C.I.F.
และ 42% สำหรับรถที่ไม่เกิน 2,400 ซีซี

ยุคปัจจุบัน
หลังจากปรับเปลี่ยนไปมาหลายครั้ง จนมาถึงยุคปัจจุบันการคิดภาษีของรถนำเข้าจะมีขั้นตอนดังนี้
– ภาษีอากรขาเข้า 80% ของราคา C.I.F.
– ภาษีสรรพสามิต มีสูตรคิดดังนี้
(C.I.F. + ภาษีอากรขาเข้า + ภาษีค่าธรรมเนียมอื่นไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) x อัตราภาษี /1 – (1.1 x อัตราภาษี*)
*(อัตราภาษีตามขนาด 2,500-3,000 ซีซี = 40%, มากกว่า 3,000 ซีซี = 50% )
– ภาษีกระทรวงมหาดไทย = 10% ของภาษีสรรพสามิต
– ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) 7% ของราคา C.I.F. + ภาษีขาเข้า + ภาษีสรรพสามิต + ภาษีกระทรวงมหาดไทย
ซึ่งนั่นก็ทำให้ราคาของรถนำเข้าหลายๆ คัน เพิ่มขึ้นเป็นสัดส่วน 200-300% ของราคาที่จำหน่ายในต่างประเทศ
ส่วนประเทศที่มีสิทธิพิเศษทางภาษี เช่น ญี่ปุ่น 20% หรือจีน 0% ก็จะทำให้ราคารถยนต์นั้นถูกลงกว่ารถทางฝั่งยุโรปตามไปด้วย
และนี่ก็เป็นเรื่องราวของกำแพงภาษีในประเทศไทยว่าถูกตั้งขึ้นมาตั้งแต่เมื่อไหร่ ด้วยจุดประสงค์อะไร และมีไทม์ไลน์การปรับเปลี่ยนอย่างไรบ้าง
หวังว่าบทความนี้จะเป็นข้อมูลความรู้ให้กับผู้อ่านได้ไม่มากก็น้อยครับ
ที่มา : cuir.car.chula.ac.th